มทร.อีสาน จับ 3 คลัสเตอร์หนุนศก.4.0 โลจิสติกส์ เกษตร อาหารและสุขภาพ ผลิตช่างราง การบิน ปั้นสมาร์ทฟาร์มฯ

ผศ.ดร. วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยฯ โดย ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย มีนโยบายให้มทร.อีสานสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลิตและพัฒนาคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ร่วมขับเคลื่อนใน 3 คลัสเตอร์หลักที่เป็นศักยภาพของมหาวิทยาลัย ได้แก่ โลจิสติกส์และท่องเที่ยว เกษตรและเทคโนโลยี อาหารและสุขภาพ โดยในส่วนของคลัสเตอร์โลจิสติกส์และท่องเที่ยวจะเน้นผลิตและพัฒนาคนด้านระบบราง และด้านการบินเพื่อรองรับการระบบคมนาคมของประเทศที่จะเชื่อมไปยังภูมิภาคอินโดจีนและประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะระบบรถไฟความเร็วสูงโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในจีนจัดตั้งวิทยาลัยระบบรางเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง เบื้องต้นได้ส่งอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศจีน รุ่นแรกฝึกจบกลับมาแล้วประมาณ 80 คน โดยจีนได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาอาจารย์และเครื่องไม้เครื่องมือการเรียนการสอนด้วย

ผศ.ดร. วิโรจน์ กล่าวว่า หลักสูตรด้านระบบรางจะเปิดสอนในปี 2562 ในระดับ ปวส.จากนั้นจะขยายไปสู่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทางด้านวิศวะเกี่ยวกับระบบรางต่อไปในอนาคต โดยจะรับนักศึกษาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเรียนและต่อยอดด้วย ทั้งหมดใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนด้านการบินขณะนี้ได้จัดตั้งสถาบันอุตสาหกรรมการบินเรียบร้อยแล้ว โดยเฟสแรกจะเปิดสอนหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน และหลักสูตรการจัดการสนามบิน โดยหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานจะมีทั้งหลักสูตรฝึกอบรม 3 เดือน 6 เดือน สำหรับช่างที่ทำงานอยู่แล้วและต้องการมาต่อยอดเพื่อให้ได้ใบรับรองของเอียซ่า หลักสูตร ปวส. และปริญญาตรีที่จะต่อยอดจากปวส.โดยจะเริ่มเปิดสอนในปี 2562 ทั้งหมดจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรฐานองค์การบินของสหภาพยุโรป หรือ EASA ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่ยอมรับในระดับสากล จบแล้วสามารถทำงานได้ทั่วโลก ขณะนี้ได้ส่งอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์กับสถาบันและสายการบินที่อยู่ภายใต้มาตรฐานเอียซ่า โดยในส่วนของการฝึกอบรมตั้งเป้าผลิตให้ได้ประมาณ 100 คน ปวส.ไม่เกินปีละ 200 คน ปริญญาตรีไม่เกิน 100 คน ผศ.ดร. วิโรจน์ กล่าว

อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวต่อว่า อีกสองคลัสเตอร์ที่อยูในแผนการผลิตและพัฒนกำลังคนตามมติสภาฯ คือ  เทคโนโลยีการเกษตรและอาหารและสุขภาพ โดยในส่วนของเทคโนโลยีการเกษตรจะมุ่งเน้นนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีไปพัฒนาการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้จังหวัดร้อยเอ็ดได้มอบที่ดิน 1,700 ไร่ พร้อมงบประมาณสนับสนุนเบื้องต้นจากรัฐบาล จำนวน 1,200 ล้านบาท เพื่อสร้างวิทยาเขตแห่งที่สามคือ วิทยาเขตร้อยเอ็ด ที่อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปพัฒนการเกษตรในพื้นที่ในรูปของสมาร์ทฟาร์ม โดยจะพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจะมี 2 คณะเปิดใหม่คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์การเกษตร และคณะนวัตกรรมการเกษตร เพื่อผลิตนักศึกษาด้านเทคโนโลยีการเกษตรและขับเคลื่องเรื่องของสมาร์ทฟาร์มเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่แก่เกษตรกรในพื้นที่ ส่วนด้านอาหารและสุขภาพจะมุ่งเน้นอาหารในบริบทของสมุนไพรหรืออาหารเพื่อสุขภาพรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ในเชิงสุขภาพโดยให้โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นที่ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์แผนไทยรวบรวมและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในเชิงนวัตกรรมให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางยาสำหรับผู้ป่วยในขั้นปฐมภูมิ ทั้งหมดเป็นการพัฒนเพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวในที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน