คอลัมน์ รายงานพิเศษ : ชี้สาเหตุ-ราคายางตกเป็นประวัติการณ์

นอกเหนือจากเรื่องน้ำท่วมที่หลายจังหวัดเผชิญอยู่ตอนนี้ อีกปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือกรณีราคายางพารา

ซึ่งชาวสวนยางระบุว่าตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์ 

สาเหตุและต้นตอเกิดจากอะไร มีเสียงสะท้อนทั้งจากชาวสวนยางและอดีตส.ส.ใต้ พื้นที่ปลูกยางมากที่สุดของไทย 

1.สุนทร รักษ์รงค์

นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)

พวกเราเกษตรกรชาวสวนยางเปิดโอกาสและฝากความหวังไว้กับผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งมาจากผู้แทนชาวสวนยาง จำนวน 5 คน หรือ 1 ใน 3 จากบอร์ดจำนวน 15 คน ถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับอำนาจการตัดสินใจ

เพราะร่างเดิมของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย กำหนดให้มีผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางแค่เพียง 1 คน ส่วนตัวในฐานะอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ได้ร่วมต่อสู้จนสามารถเพิ่มจำนวนตัวแทนชาวสวนยางในบอร์ดเป็น 5 คน

แต่เกือบ 2 ปี ที่พวกเขาบริหารงาน พวกเราชาวสวนยางผิดหวังอย่างมากและเชื่อว่าเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ 1.7 ล้านคนไม่เคยรู้จักพวกเขาเหล่านี้ เพราะไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากชาวสวนยาง

เป็นการเข้ามาจากกลไกการผูกขาดอำนาจของ สกย.เก่า ที่สร้างเครือข่ายชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศให้เป็นเพียงทาสในเรือนเบี้ย แบ่งแยกแล้วปกครอง กีดกันคนดีที่มีความสามารถ และทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเพียงพิธีกรรม

เป็นการประชุมอย่างสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ชาวสวนยางไม่มีสิทธิคิดต่างและไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งผิดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558

ที่ผ่านมาทั้ง 5 คน ได้ทำประโยชน์อะไรให้ชาวสวนยางบ้าง ช่วยตอบด้วย โดยมีหลายข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบของ กยท. พวกเขาผ่านมติอัปยศเหล่านี้มาได้อย่างไร บางระเบียบได้ลิดรอนสิทธิของเกษตรกรชาวสวนยาง

เช่น สิทธิในการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมาตรา 4 ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของ พี่น้องชาวสวนยางชายขอบ แม้เป็นประกาศก่อนที่จะเข้ามา แต่พวกเขาเคยสัญญากับตัวแทนชาวสวนยางทั้งประเทศเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2558 ว่าจะแก้ไข ใช่หรือไม่ แล้วทำไมไม่ทำ

วันนี้เกิดวิกฤตราคายางตกต่ำอีกครั้ง พี่น้องชาวสวนยางเดือดร้อนอย่างหนัก ร้องไห้ระงมทั่วทั้งประเทศ อันเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ ล้มเหลวของพวกเขาเหล่านี้ แล้วจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร โดยเฉพาะผู้ว่าการยางฯยิ่งแล้วใหญ่ เหมือนเราส่งหมูเข้าสู่สนามการค้าที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น

อย่าให้ถึงขนาดต้องขับไล่ไสส่งเลย แต่ถ้าไม่ทำเพื่อเกษตรกร ชาวสวนยางผู้เป็นเจ้าของ กยท.ตัวจริง ย่อมแสดงออกและกระทำการทวงคืนอำนาจการบริหารจาก กยท.ได้ใช่หรือไม่

2.ถาวร เสนเนียม 

อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

การผลิตยางพาราในโลกนี้กับปริมาณการใช้ไม่ได้ต่างกันมากมาย แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องใช้องค์กรบริษัทร่วมทุนให้เกิดประโยชน์ คือจัดให้ประเทศร่วมทุนได้ประชุมพัฒนาแก้ไขราคายาง คือไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เคยใช้องค์กรนี้ได้ผลมาแล้ว โดยการบริหารการผลิตร่วมกัน บริหารจัดให้มีสต๊อกร่วมกัน บริหารด้านการตลาดร่วมกัน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลนี้ประชุมกันตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้แนวทางมาใช้เพื่อพยุงราคายาง หรือรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร

การใช้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ร่วมกับบริษัทผู้ส่งออกยางพารา 5 บริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อดูดซับปริมาณยางและบริหารจัดการการส่งออก แต่กลับไม่มีการบริหารจัดการเรื่องส่งออกร่วมกันเลยแต่เป็นการเก็บยางไว้ในสต๊อก

บางแห่งเก็บไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ยางขาดคุณภาพ เพราะเก็บในพื้นที่ที่อุณหภูมิไม่เหมาะ มีการวางทับซ้อนกัน เมื่อผู้ซื้อรู้ว่ามียางอยู่ในสต๊อกมาก ก็ไปกดราคายางที่เกษตรกรนำมาขาย เป็นการฉวยโอกาสของพ่อค้ายักษ์ใหญ่เนื่องจากมียางอยู่ในสต๊อกมาก

เป็นความล้มเหลวที่ไม่สามารถใช้บริษัทร่วมค้าให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร ทั้งที่รัฐบาลนี้จัดตั้งขึ้นและ เป็นการบริหารจัดการไม่เป็น ร่วมถึงการบริหารของกยท. ที่สามารถออกข้อกำหนดหรือกดดันได้แต่ไม่ได้ทำ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ชั้นเชิงอ่อนมาก 

ที่ผ่านมานายกฯ นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.โดยกำหนดให้ส่วนราชการนำยางพาราที่ผลิตได้ภายในประเทศมาใช้ แต่ปรากฏว่าส่วนราชการไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติตามติครม. ยังคงเขียนโครงการวางแผนแต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ

เป็นเหตุให้ส่วนราชการเหล่านี้ซึ่งมีข้อผูกพันกับพ่อค้าอยู่ เช่น ส่วนราชการที่ก่อสร้างถนน อย่างน้อย 3 กระทรวงคือ มหาดไทย คมนาคม และกระทรวงเกษตรฯ ไม่ปฏิบัติตามมติครม.

แต่ถ้านำยางมาใช้ตามมติครม. การซื้อขายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เช็นต์ เงินตราไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ เงินถึงจะถึงมือเกษตรกร ราคายางก็ขยับสูงขึ้นได้

สิ่งเหล่านี้นายกฯสามารถบริหารจัดการแก้ไขได้ แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของนายกฯให้การ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้เห็นว่าปัญหาราคายางตกต่ำ คนที่จะต้องรับผิดชอบ คือ นายกฯ รมว.เกษตรฯ รมว.พาณิชย์ และส่วนราชการที่ต้องใช้ยางพาราทุกกระทรวง 

ที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้ปรับ รมว.เกษตรฯ ออกจากตำแหน่ง แต่นายกฯก็ไม่ได้ดำเนินการ การที่เสนอให้ปรับรมว.เกษตรฯออก เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเกษตรกรโดยตรง เมื่อไม่ดูแลก็ต้องปรับออก

และรมว.เกษตรฯ ก็เป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้ง กยท. เมื่อทำงานไม่ได้ก็ต้องปรับเปลี่ยนเอาคนที่มีฝีมือมาทำงาน ส่วนนายกฯ ก็ควรต้องใช้จิตสำนึกว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าข้อเสนอที่ว่ามาดีก็ควรนำไปใช้

เวลานี้ราคายางที่มีต้นทุน 60 บาท อย่างน้อยควรได้สัก 70 บาท/กิโลกรัม ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ก็อยู่ที่รัฐบาล ถ้าตั้งใจทำก็ยิ่งกว่าเป็นไปได้ เพราะผู้มีอำนาจเป็นรัฐบาลที่อ้างว่ามาทำเพื่อประชาชน คนก็ตั้งความหวังให้เกิดผลทางปฏิบัติ

ดังนั้น ก็ขอให้ฟังนักการเมืองในพื้นที่บ้าง เพราะอยู่ใกล้ชิดเกษตรกรชาวสวนยางมาตลอดชีวิต

3.อุทัย สอนหลักทรัพย์

ประธานสภาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

ขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำลงมาก โดยราคาเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ยางพารา 3 ตลาดในภาคใต้คือ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร อยู่ที่ราคา 43.80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์

สาเหตุเกิดจากความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพราคายางพาราของไทยไม่เหลือ โดยเฉพาะเสถียรภาพการบริหารจัดการยางของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกยางพารา 5 บริษัท หรือ 5 เสือส่งออกยาง 

โดยลงขันกันซื้อยางแล้วไม่บริหารจัดการ ทำให้ยางค้างสต๊อกมากกว่า 9 พันตันจนไม่มีที่เก็บ ต้องปิดสำนักงานตลาดกลางยางพารา 3 แห่งของกยท.ชั่วคราว ได้แก่ ตลาดกลาง จ.สงขลา ตลาดกลาง จ.สุราษฎร์ธานี และตลาดกลาง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทำให้ราคายางพาราตกต่ำในช่วงนี้

ดังนั้น ราคายางพาราที่ตกก็เพราะความเชื่อมั่น ต่อเสถียรภาพในประเทศไม่มี เพราะการบริหารงาน การจัดการของ กยท.ไม่มีความน่าเชื่อถือเลย

โดยเฉพาะการที่ กยท.ไปร่วมกับ 5 เสือส่งออก ตั้งบริษัทร่วมทุนซื้อยาง เป็นเหตุให้ราคายางดิ่ง เพราะซื้อยางเสร็จก็นำมากองทำให้ขายไม่ได้ กระทบต่อ ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ เมื่อจีนรู้ปัญหาของไทย ก็กดราคาทำให้ราคาตกต่ำลง

กยท.บริหารสต๊อกยางพาราไม่ดี และถือเป็นความ รับผิดชอบของรัฐบาล เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) จะหารือกับชาวสวนทั่วประเทศ เพื่อสรุปข้อเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้พิจารณาการทำงานของผู้บริหาร กยท.และต้องรับผิดชอบต่อราคายางพาราที่ตกต่ำ

ผู้บริหารกยท.ทำงานไม่ดี เคยออกมาประกาศว่าราคายางพาราจะสูงขึ้นอยู่ที่ 70 บาท/กิโลกรัม เรื่องนี้ ผู้บริหาร กยท.ต้องรับผิดชอบต่อ คำพูดเพราะเหลือแค่ 2 เดือนจะ สิ้นปีราคายางพารายังไม่ถึงไหน

นอกจากนี้ ยังเตรียมร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยสั่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ปิดตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ที่ลงทุนโดยเงินของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

ซึ่งขณะนี้ตลาดกลางยางพาราของ อบจ.ระยอง ก็ดำเนินกิจการได้ดี ส่งผลให้ราคายางที่เกษตรกรขายได้มีราคาสูงกว่าตลาดอย่างน้อย 3-4 บาทในแต่ละช่วง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ปิดกิจการโดยระบุว่าตลาดกลางยางพาราของระยอง ไม่มีกฏหมายรองรับ

ตั้งแต่เปิดดำเนินการมากว่า 9 ปี ตลาดกลางจดทะเบียนเป็นบริษัท ใช้งบประมาณ อบจ.ระยอง สำนักงานงานตรวจเงินแผ่นดินมาตรวจแล้วอ้างว่า อบจ.ไม่มีสิทธิตั้งบริษัท ให้เลิกดำเนินการ

ทั้งที่ตั้งแต่เปิดดำเนินการมาทำให้เกษตรกรภาคตะวันออก เหนือ อีสาน มีรายได้เพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียน 10,000 ล้านบาท โดยที่ตลาดกลาง มีรายได้ร้อยละ 10 สตางค์เท่านั้น เราทำงานเพื่อ เกษตรกรจริงๆ

ดังนั้น พวกเราเกษตรกรจะเตรียมฟ้องศาลปกครองในเรื่องนี้ 

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์