137 สินค้าขยับดันเงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งปีอยู่ในกรอบมาตรการค่าครองชีพช่วยฉุด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนตุลาคม 2560 เท่ากับ 101.38 สูงขึ้น 0.16% จากเดือนกันยายน 2560 และสูงขึ้น 0.86% เทียบเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ผลจากปรับขึ้นของราคาผักสดและผลไม้ในช่วงเทศกาลกินเจ สูงขึ้น 2.70% น้ำมันขายปลีกปรับราคาสูงขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียมีแผนขยายเวลาลดกำลังการผลิตจนถึงปี 2561 รวมถึงการปรับขึ้นราคาบุหรี่และสุราจากการปรับโครงสร้างภาษีใหม่สูงขึ้น 3.44% ค่าโดยสารเรือสูงขึ้น 3.32% ผลจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและกรมเจ้าท่าปรับราคาค่าโดยสารเรือ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักอาหารและน้ำมัน) สูงขึ้น 0.09% จากเดือนกันยายน และสูงขึ้น 0.58% เทียบเดือนตุลาคม 2559 เฉลี่ย 10 เดือนปีนี้ สูงขึ้น 0.54%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ทั้งนี้ สำรวจสินค้ากว่า 420 รายการในการคำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น 137 รายการ เช่น ผักและผลไม้ นมสด ข้าวแกง/กับข้าวสำเร็จรูป และค่าเช่าบ้าน ส่วนสินค้าราคาคงเดิม 200 รายการ และสินค้าอีก 85 รายการ ราคาลดลง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ เป็นต้น ตามความต้องการที่ลดลงในช่วงปิดเทอม “ราคาดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2560 สูง 0.62% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 4/2560 คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น 1.0% จะทำให้โอกาสเงินเฟ้อทั้งปีนี้อยู่ในกรอบ 0.4-1.0% โดยมีโอกาสมากสุดสูงขึ้น 0.7-0.8% ทำเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 บนสมมุติฐานการขยายตัวของจีดีพี 3.0-4.0% ราคาน้ำมัน 45-55 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-34.5 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือและลดค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาล ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไม่มากนัก ทำให้เงินเฟ้อยังต่ำกว่า 1.0% ได้ ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2561 อยู่ระหว่างการติดตามปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่เชื่อว่ายังเป็นแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อดีขึ้น” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวและว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญอาจกระทบต่อการส่งออก ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นผลจากกลุ่มผู้ผลิตเลื่อนผลกำลังการผลิตถึงสิ้นปี 2561 จากเดือนมีนาคม 2561 และค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินเอเชียเริ่มทรงตัว ส่วนปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยลดค่าใช้จ่าย และการส่งออกโลกขยายตัว เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน