ตระหนักได้…แต่ ‘อย่าตระหนก’…ไปกับโรคระบาดสัตว์

ช่วงนี้มีรายงานข่าวจากหลายประเทศที่ระบุว่า พบการระบาดของไข้หวัดนก ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และลาว รวมไปถึงตอนใต้ของอิตาลี อาจสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคได้ หนำซ้ำยังมีข่าวเท็จเดิมๆ ส่งกันว่อนไลน์อีกครั้งว่า เกิดการระบาดของเอดส์หมู เอดส์ไก่ ในจังหวัดนครปฐม ข่าวเท็จชิ้นนี้วนกลับมาสร้างความรำคาญและก่อความสับสนในคนไทยแทบทุกปี เป็นเหตุให้กรมปศุสัตว์ปวดหัวจนประกาศจะเอาจริงกับคนแชร์ในข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอม แล้ว

ในฐานะนักวิชาการด้านการผลิตสัตว์ ยังคงยืนยันว่าประเทศไทยสามารถรับมือโรคระบาดสัตว์ได้ดีมาก ในระดับแถวหน้าของโลกเลยด้วยซ้ำ การที่มีข่าวโรคระบาดสัตว์เกิดขึ้น จึงควรจะถือว่าเป็นการเตือนให้ประชาชน “ตระหนักรู้” ว่ามีสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้อง “ตระหนก” เพราะด้วยความสามารถและศักยภาพของภาครัฐและเอกชนไทย ต้องเรียกว่า “เอาอยู่” ครับ

กรมปศุสัตว์เองมีหน่วยงานเฉพาะที่เฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามแนวชายแดน และเจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ได้ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะต้องสงสัยที่จุดผ่านแดน ทั้งรถยนต์ รถจักรยาน และรถเข็น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คนไทยมั่นใจได้ว่าประเทศของเรามีมาตรการป้องกันโรคระบาดสัตว์ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบคอมพาร์ทเมนต์” ที่ช่วยป้องกันโรคระบาดสัตว์หลายโรคให้ประเทศไทยมาได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

อันที่จริงผมเคยพูดถึงระบบนี้หลายครั้ง และได้รับความสนใจจากผู้อ่านหลายท่านสอบถามข้อมูลเข้ามา แต่ในห้วงของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความกังวลกับข่าวสารโรคระบาดสัตว์ จึงขออธิบายถึงระบบอันทรงประสิทธิภาพนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ปัจจุบัน บ้านเรายังคงสถานะประเทศปลอดโรคไข้หวัดนกตามรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ OIE) ซึ่งเกิดจากความพยายามในการพัฒนาระบบการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพหรือระบบสุขาภิบาลป้องกันโรค (biosecurity) และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนนี่เองที่ส่งผลให้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมดังกล่าว

ด้วยแนวคิดที่ว่า “วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” ซีพีเอฟ จึงมุ่งให้ความรู้แก่พนักงานและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกถึงเรื่องสุขศาสตร์ การป้องกันโรค วิธีการสังเกตอาการของสัตว์ปีกที่ป่วย และแนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จอย่างสูงสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ “ระบบคอมพาร์ทเมนต์” หมายถึง สถานประกอบการ หรือกลุ่มสถานประกอบการ ซึ่งทราบสถานภาพของโรคไข้หวัดนกภายใต้ระบบการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพร่วมกัน ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมสำหรับโรคไข้หวัดนก โดยจะให้ความสำคัญการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เชื่อมโยงภายในหน่วยงานและสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค เพื่อให้ฝูงสัตว์ปีกมีสถานะปลอดจากโรคไข้หวัดนก

โดยมีองค์ประกอบสำคัญด้านการจัดการใน 4 หมวดหลัก ได้แก่ 1. มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการ ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม หรือ HACCP สำหรับโรคไข้หวัดนก 2. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ 3. การควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ 4. การตรวจสอบย้อนกลับ

ซีพีเอฟ ได้นำระบบคอมพาร์ทเมนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร โดยดำเนินการทั้ง 4 หมวดหลักอย่างจริงจัง นับตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ที่ทำการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดี ขณะที่โรงฟักไข่สัตว์ปีก จะใช้ระบบการผลิตตามหลักการอาหารปลอดภัยเช่นเดียวกับโรงงานอาหารแปรรูปจากนั้นลูกไก่จะถูกส่งเข้าเลี้ยงในฟาร์มมาตรฐานในโรงเรือนปิดระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ (EVAP) ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเลี้ยงจากภายนอกโดยผู้เลี้ยงไม่ต้องเข้าไปภายในโรงเรือน ระบบจะจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้สัตว์ปีกอยู่อย่างสบาย และรายงานข้อมูลการเลี้ยงตามเวลาจริง พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ตลอดเวลา

ขั้นตอนของการเข้าปฏิบัติงานภายในโรงเรือนก็เข้มข้น ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อมือและรองเท้า ก่อนสัมผัสสัตว์ปีก รวมถึงรถขนส่งและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งหมด ที่สำคัญต้องมีโปรแกรมการควบคุมและกำจัดสัตว์พาหะ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าไปปนเปื้อนสัตว์ปีกภายในโรงเรือนได้ ตลอดจนมีโปรแกรมการเฝ้าระวังโรค ทั้งที่ฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งมีมาตรการตรวจสอบก่อนการจับไก่เนื้อหรือเป็ดเนื้อส่งมอบโรงงาน เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ปีกปราศจากเชื้อก่อโรคและปลอดจากสารตกค้างที่เป็นอันตราย

กระบวนการป้องกันโรคระบาดสัตว์มีรายละเอียดค่อนข้างมากและต้องใช้ความเข้มงวดจริงจัง จะหละหลวมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไม่ได้เลย ซึ่งตรงนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบไป ในส่วนของ “ผู้บริโภค” ก็เพียงเลือกซื้อสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและไข่จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานที่กรมปศุสัตว์รับรอง ทราบแหล่งที่มา และรับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่สุกแล้วเท่านั้น ก็จะปลอดภัยจากไข้หวัดนกและโรคระบาดสัตว์หลายๆ โรคแล้ว

คุณก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ “ตระหนักรู้” แต่ไม่หลง “ตระหนก” ไปกับข่าวลือข่าวเท็จเกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์แล้วครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ. พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล

รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริการวิชาการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)