มช.สร้างเครื่องต้นแบบ…

ผลิตแคโรทีนอยด์เข้มข้น“นํ้ามันปาล์ม” นิยมใช้ในการทอดอาหารถึง 70% ของน้ำมันบริโภคทั้งหมด น้ำมันปาล์มผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบซึ่งมีสีส้มแดงของสารแคโรทีนอยด์ที่เป็นองค์ประกอบ กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มต้องกำจัดแคโรทีนอยด์ออกเพื่อให้น้ำมันมีสีอ่อนใส ทำให้คุณค่าของน้ำมันปาล์มลดลงอย่างมาก เนื่องจากแคโรทีนอยด์เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ซึ่งไทยต้องนำเข้าแคโรทีนอยด์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง แคโรทีนอยด์ที่มีบีตาแคโรทีนเป็นองค์ประกอบสูง มีราคากิโลกรัมละหลายหมื่นบาท หากนำน้ำมันปาล์มดิบมาแยกแคโรทีนอยด์ออกก่อนที่จะนำไปผลิตน้ำมันปาล์มบริโภคหรือไบโอดีเซล จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันปาล์มดิบที่สูงมาก แต่เทคโนโลยีการผลิตแคโรทีนอยด์ยังเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ และซับซ้อน จึงไม่เหมาะกับไทย รศ. พัชรินทร์ ระวียัน คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตรจัดโครงการวิจัยการสร้าง “เครื่องต้นแบบระดับโรงงานเพื่อผลิตแคโรทีนอยด์เข้มข้นจากน้ำมันปาล์มดิบ” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยเครื่องต้นแบบตั้งอยู่ที่บริเวณศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มช.โดยเครื่องต้นแบบระดับโรงงานที่สร้างขึ้น ได้พัฒนามาจากเครื่องต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการ ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยออกแบบให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำหน่าย หรือสร้างได้ภายในประเทศ ซ่อมบำรุงได้โดยช่างเทคนิคในท้องถิ่น มีกำลังผลิตครั้งละ 100 กิโลกรัม ผลิตแคโรทีนอยด์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไขมัน

ที่เหลือจากการสกัดแคโรทีนอยด์นำไปผลิตน้ำมันปาล์มบริโภค หรือไบโอดีเซลต่อไปได้

ทั้งนี้ การผลิตแคโรทีนอยด์โดยใช้เครื่องสกัด และเทคโนโลยีที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้การทำสวนปาล์มน้ำมันมีความยั่งยืนแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน