เผยแพร่ |
---|
แก้ปัญหากันมาช้านานสำหรับเรื่องการบุกรุกถือครองพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ และเป็นผืนป่ามรดกโลก มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และหน่วยงานของรัฐกับราษฎรมากที่สุด โดยปัญหาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก กลุ่มพื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการของรัฐ เนื้อที่ประมาณ 67,876 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำกิน และอยู่อาศัยของราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิถุนายน 2541 ตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในป่าอนุรักษ์ คือ อุทยานแห่งชาติทับลาน
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 58,582 ไร่
และ กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีการบุกรุก และมีการเปลี่ยนมือให้กลุ่มนายทุนเข้ามาครอบครอง เพื่อสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศ เนื้อที่ประมาณ 152,076 ไร่
กลุ่มที่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมในป่าอนุรักษ์ได้ โดยจะมีกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ที่ผ่าน ครม.แล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภารองรับ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือป่าอุทยานการจะดำเนินการใดๆ จะต้องมีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ตาม ถ้าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยาน ไม่ผ่านการพิจารณาของสภา รัฐบาลก็จะมีการแก้ไขปัญหาก๊อก 2 อาจจะมีการเพิกถอนพื้นที่ประมาณ 6.7 หมื่นไร่ ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และทำการจัดสรรให้ราษฎรต่อไป เพื่อแก้ปัญหาส่วนพื้นที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐกับรัฐ เช่น กรมอุทยานฯกับ ส.ป.ก.และพื้นที่ที่มีการบุกรุก และเปลี่ยนมือให้กลุ่มนายทุนก็จะมีการแก้ไขเป็นลำดับไป
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า กรมอุทยานฯได้ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มี นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นประธานอำนวยการ เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นที่ ลักษณะการถือครอง ครอบครอง และสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน ผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจตามแนวทางแก้ปัญหาตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541
วิธีการดำเนินงานคือ จัดเจ้าหน้าที่แบ่งเป็น 48 ชุด ชุดละ 8 คน ทำการสำรวจ คาดว่าจะได้รายชื่อผู้ครอบครองที่ดิน 15,000 แปลง เนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ ใน อ.เสิงสาง และครบุรี ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประมาณ 2,700 ชุมชน พื้นที่กว่า 5.9 ล้านไร่
“แต่ขอทำความเข้าใจว่า กรมอุทยานฯไม่ได้เอาที่ดินจากป่าอนุรักษ์ไปแจกอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านได้รับนั้นไม่ใช่เอกสารสิทธิที่ดิน แต่เป็นสิทธิทำกิน ห้ามมีการซื้อขาย ส่วนผู้ที่มีสิทธิจะได้รับสิทธิดังกล่าว คือชาวบ้านที่อยู่มาก่อนในพื้นที่ โดยอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิภายใต้มติ ครม.30 มิถุนายน 2541” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าว
นายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหาข้อยุติการแก้ไขปัญหา และลงพื้นที่ ชี้แจง ทำความเข้าใจ และตอบข้อซักถาม ถึงแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตามโครงการตรวจพิสูจน์สิทธิฯ ในพื้นที่ที่ยังมิได้เข้าร่วมโครงการและพื้นที่ตกหล่นในการปฏิบัติงาน
“โดยสรุปแล้ว ทั้ง 3 กลุ่ม มีความคืบหน้าในการดำเนินการพอสมควร โดยกลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับ ส.ป.ก.นั้น ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ขณะนี้รอผลอยู่ กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่ทำการเกษตร และชาวบ้านที่อยู่ดั้งเดิม ก่อนหน้านี้ ได้จัดให้กลุ่มนี้เข้าตามหลัก มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 และอยู่ระหว่างการรังวัดตรวจสอบ ขณะนี้เสร็จเกือบ 100% แล้ว
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะมีปัญหามากที่สุด เพราะที่ดินหลายแปลงถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 การตรวจสอบต้องใช้เวลา แต่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำงานทุกวัน” นายประวัติศาสตร์ กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน