ร.ร.เมืองกระบี่ ใช้ Active Learning ด้วยบันได 7 ขั้น สู่การเป็นต้นแบบ ร.ร.สิ่งแวดล้อมศึกษา

นายวสันต์ ปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองกระบี่เปิดเผยว่า โรงเรียนเมืองกระบี่เป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(Eco-school) มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาที่จะให้ความรู้ ให้ทักษะ ประสบการณ์ แก่เด็กเยาวชน การจัดการทุกอย่างของโรงเรียนเมืองกระบี่ จึงเป็นการทำเพื่อสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศไทยและโลก เพื่อให้นักเรียนมีวินัยที่จะร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งการจะมีวินัยที่ยังยืนได้ ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝน ได้ปฏิบัติ เป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือ Active Learning โดยเริ่มจากการทำหลักสูตรที่เกิดจากครูทุกคนลงไปศึกษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบบ้านตัวเอง และรอบโรงเรียน แล้วกลับมาร่างหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา จากนั้นนำไปสู่การออกแบบการสอนและกิจกรรมเพื่อนำไปฝึกฝนนักเรียนให้มีวินัยที่ยั่งยืน แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการคิด ปฏิบัติและประเมินผลด้วยจากแผนการเรียนรู้ไปสู่การความสำเร็จได้นั้น โรงเรียนมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งโรงเรียน คือ 1 ห้องเรียน 1 ฐานการเรียนรู้ หมายความว่าโรงเรียนเมืองกระบี่มี 51 ฐานการเรียนรู้ จาก 51 ห้องเรียน โดยครูและนักเรียนทุกห้องจะมีพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองบนพื้นที่ 34 ไร่ที่โรงเรียนมี โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา 7 ขั้นตอนในการจัดกิจกรรม เพราะฉะนั้นนักเรียนโรงเรียนเมืองกระบี่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการคิดตั้งแต่เริ่มต้นโดยการศึกษาปัญหา วิเคราะห์แก้ปัญหา ทดลองตามกระบวนการจนประสบความสำเร็จและนำกลับไปสู่สังคม

นางอมรทัต เอียดศรีชาย ครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษามิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โดยใช้บันได 7 ขั้น เริ่มต้นจากการสำรวจเพื่อหาประเด็นเรียนรู้ ด้วยการวิเคราะห์ระบบนิเวศน์เพื่อดูว่าพื้นที่นี้มีลักษณะภูมินิเวศน์อย่างไร ขั้นที่ 2 เป็นความรู้ฐานซึ่งนักเรียนต้องไปค้นหาว่าความรู้ของประเด็นเรียนรู้คืออะไร ซึ่งส่วนมากจะหาได้จากปราชญ์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือการสืบค้นข้อมูลจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต ขั้นที่ 3 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นการวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ว่าหากยังดำเนินชีวิตอย่างนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นที่ 4 นำไปสู่การเรียนรู้สถานการณ์ จากนั้นไปสู่ขั้นที่ 5 การวางแผน นักเรียนจะได้ฝึกออกแบบการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้ประเด็นเรียนรู้และความรู้ที่มีที่ผ่านการวิเคราะห์ที่กำหนดทางเลือกไว้แล้ว ขั้นที่ 6 เป็นการลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ และขั้นที่ 7 การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเผยแพร่ให้แก่สังคม เพื่อนโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ด้าน นางอรนุช แก้ววิเศษ ครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา มิติสังคม กล่าวว่า โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้ธนาคารขยะ แต่ความสำเร็จของธนาคารขยะไม่ใช่ทำอย่างไรให้ได้เงินจำนวนมาก แต่เป็นเรื่องของการลดปริมาณขยะและนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดมากกว่า

 

Advertisement

ที่มา : มติชนออนไลน์