ภาพยนตร์ ยาบำรุงผู้สูงอายุ

ด้วยคำว่า “สังคมสูงวัย” ทำให้หลายๆ หน่วยงานให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ

เล่น“ซูโดกุ” สิ เป็นอีกคำแนะนำ ว่ากันว่าช่วยให้สมองชราภาพช้าลง หรืออีกทฤษฎีก่อนหน้านี้ที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างบ่อยๆ คือ เล่นดัมมี่ ไพ่ผ่อง ฯลฯ ฝึกให้สมองได้บวกลบตัวเลข ความจำจะเลิศ

ล่าสุด จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 รวม 13 ครั้ง โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จัดโครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ มีการฉายภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่าเหมาะแก่ผู้สูงอายุ พร้อมกับการเสวนาหลังชมภาพยนตร์จบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างวิทยากรและผู้ชม

ยืนยันว่า ภาพยนตร์ให้ประโยชน์มากกว่าความบันเทิง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายถกเถียง เรียนรู้ชีวิตร่วมกัน ภาพยนตร์เป็นดั่งยาบำรุงผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ จากการสรุปบทเรียนสุดท้ายโดยการจัดงานเสวนา “ภาพยนตร์ ยาบำรุงผู้สูงอายุ” ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุจากหลากหลายหน่วยงานโดยรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ นิศานาถ ไทรทองคำ เจ้าของบทความ “ภาพยนตร์ ยาบำรุงผู้สูงอายุ” เล่าว่า มาจาก คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ที่เป็นทั้งผู้สูงอายุ และชื่นชอบการชมภาพยนตร์ เชื่อมั่นว่าการชมภาพยนตร์จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ โดยได้รับสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้อำนวยการศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย

“สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ถูกนำมาใช้งานในการสื่อสารกับผู้ป่วยได้ดี นั่นคือ ภาพยนตร์ได้ตั้งโจทย์ให้มีปมและบอกวิธีแก้ไข เชื่อว่าภาพยนตร์มีพลังเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่ากระบวนการชมภาพยนตร์ถ้าดูเพียงลำพังจะไม่ได้เรียนรู้มากเท่ากับการชมภาพยนตร์แล้วมีการร่วมวิเคราะห์พูดคุยกับผู้อื่น จึงเห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้” ผศ.นพ.สุขเจริญบอก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะภาพยนตร์ทุกเรื่องจะเหมาะกับผู้สูงอายุทุกคน

แม้ว่าภาพยนตร์นั้นๆ ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรง จะเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว หรือการ์ตูนแอนิเมชั่นก็ได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญบางประการ เช่น ต้องเป็นภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดปัญญา เกิดการเรียนรู้

ตัวอย่าง เช่น เรื่องThe Theory of Everything ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของ สตีเฟน ฮอว์คิง ที่เป็นเรื่องราวความรักของคนหนุ่มสาว และการเผชิญหน้ากับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ก็ให้ประเด็นในการขบคิดถกเถียงอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตในภาวะที่ร่างกายเสื่อมถอย การมองคุณค่าของความรัก แม้กระทั่งความเข้าใจในอัตตาของมนุษย์ หรือภาพยนตร์แอนิเมชั่น Inside Out ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ผู้สูงอายุได้อภิปรายถึงการทำงานของสมองและความรู้สึกภายในตัวเรา

ขณะเดียวกัน ก็มี ประเด็นที่พึงระวังในการเลือกภาพยนตร์ เช่น ความเปราะบางในบางประเด็น บางเรื่องกับผู้ชมบางคน ที่อาจเกิดความรู้สึกห่อเหี่ยวหลังชมภาพยนตร์จบ เพราะชีวิตของเขาตรงกับเนื้อหาในภาพยนตร์

ดังนั้น ภาพยนตร์ที่นำมาฉายจึงควรเป็นภาพยนตร์ที่มีคำตอบในตอนจบของเรื่อง มีการคลี่คลายปมเหล่านั้นเสมอ เพราะหากภาพยนตร์ที่ผู้สูงอายุรับชมแล้วไม่มีคำตอบ ไม่มีการคลายปมให้ผู้ชม อาจจะกลายเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ดีค้างคาอยู่ในจิตใจผู้ชม

ที่สำคัญอีกประการคือ หากภาพยนตร์นั้นมีประเด็นที่อ่อนไหว หรือประเด็นที่ค่อนข้างยาก ผู้จัดควรจะให้ข้อมูลเสริมกับผู้ชมด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นดังกล่าว มีหนังสือ “ภาพยนตร์ ยาบำรุงผู้สูงอายุ” ซึ่งรวบรวมการถอดบทสนทนาหลังการจัดฉายภาพยนตร์ใน 10 ครั้งแรกของโครงการนี้เพื่อเป็นตัวอย่างกิจกรรม วางจำหน่ายแล้วราคาเล่มละ 150 บาท ที่ร้านมายาพาณิชย์