ที่มา | วงล้อเศรษฐกิจ |
---|---|
ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
เผยแพร่ |
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
ในปัจจุบันที่กระแสโลกได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคโลกใหม่แบบ Knowledge-Based และเข้าสู่ยุค Digital Economy
อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone) นับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการทำธุรกิจมากขึ้น ล่าสุดโดรนถูกนำมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลาและแรงงานคน โดยสามารถพ่นยา/ปุ๋ย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
คาดว่าในปี 2563 มูลค่าตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ของโลกอาจอยู่ที่ราว 127,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.4 ล้านล้านบาท
โดยโดรนเพื่อการเกษตรคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงเป็นอันดับ 2 ที่ราว 32,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน โดรนเพื่อการเกษตรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในลักษณะของการทำการเกษตรแบบแม่นยำ เช่น
-การรดน้ำ การให้ฮอร์โมน การให้ปุ๋ยทางใบ
-การถ่ายภาพวิเคราะห์/ตรวจโรคพืช ทำให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษาโรคพืชได้อย่างตรงจุด
ประเมินว่า หากไทยมีการนำเทคโนโลยีการเกษตรอย่าง โดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ตามนโยบายนาแปลงใหญ่ของภาครัฐในปี 2560 จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้รวมราว 1,100 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้กว่า 6,000 ล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า
โดยการประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานของพื้นที่เป้าหมายนาแปลงใหญ่ที่ 1,512 แปลงในปี 2560 และ 7,000 แปลงในปี 2564 และยังคาดว่าในอนาคตจะมีการใช้โดรนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเกษตรมากขึ้นอย่างแน่นอน
แม้ปัจจุบันการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในไทยจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่คาดว่าในอนาคตราคาโดรนเพื่อการเกษตรจะถูกลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโดรนมีการแข่งขันกันหลายบริษัท
ผนวกกับความนิยมใช้โดรนของเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง รวมทั้งเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น
โดยประเมินว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565) ราคาโดรนเพื่อการเกษตรอาจลดลงราว 20-25% ต่อปี อยู่ที่ 67,000-106,000 บาท จากราคาเปิดตัวในปี 2558 ที่ราว 300,000-500,000 บาท