น้ำท่วมอีสานข้าวเสียหาย 1 ล้านตัน ชาวนาแห่จำนำยุ้งฉาง รอทำกำไร

ในระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2560 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยนำคณะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อสำรวจผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/2561 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยประชุมร่วมกับตัวแทนเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด 17 จังหวัดจากทั้งหมด 20 จังหวัด ที่ได้รายงานประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ปลูกข้าวเบื้องต้น (ยังไม่สิ้นสุด) รวมได้ 2.68 ล้านไร่ จากเนื้อที่ปลูกข้าวทั้งหมดในภูมิภาครวม 36.6 ล้านไร่

หากคิดตามผลผลิตต่อไร่ 400-430 กก.ไร่ จะคิดเป็นข้าวเปลือกเสียหาย 1.0-1.1 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตที่คาดการณ์จะได้ 7-8 ล้านตัน

โดยจังหวัดที่มีความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด 724,562 ไร่ สกลนคร 377,355 ไร่ ยโสธร 252,288 ไร่ มหาสารคาม 239,848 ไร่ และกาฬสินธุ์ 184,656 ไร่

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคาดว่าภาพรวมข้าวเปลือกนาปีจะมีปริมาณลดลง โดยข้าวหอมมะลิลดลง 5-6% ข้าวเหนียวลดลง 8% ถือเป็นตัวเลขที่ผิดจากที่คาดการณ์ไว้ สวนทางกับความรู้สึกทุกภาคส่วนที่มองว่า ปกติปริมาณน้ำมากจะส่งผลดีต่อข้าวที่ปลูกในนาดอน ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปีขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว มีระดับราคาเฉลี่ยตันละ 13,000-14,000 บาท สูงขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาตันละ 10,000 บาท

โรงสีมองสวนทางผลผลิตเพิ่ม

นายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ เจ้าของ หจก.โรงสีข้าวเอกไพบูลย์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากประสบการณ์มองว่าผลผลิตข้าวนาปีจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีปัญหาเรื่องราคา เพราะปีนี้รัฐบาลประกาศนโยบายสินเชื่อชะลอการขายยุ้งฉางเร็วกว่าปีก่อน ส่งผลดีทำให้เกษตรกรวางแผนการเก็บทัน และระดับราคาที่ฝากเก็บข้าวหอมมะลิตันละ 10,800 บาท และมีค่าเก็บรักษาข้าวในยุ้งอีกตันละ 1,500 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังเหลือเงินบางส่วนไว้ซื้อปัจจัยการผลิตถือเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทาง ช่วยเกษตรกรตรงจุด และไม่ทำลายกลไกตลาดข้าวปกติ

นายวิชัย ศรีนวกุล ประธานชมรมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิในนาดอนจะเพิ่มขึ้น ส่วนในนาลุ่มจะเสียหาย เมื่อหักล้างกันแล้วทำให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559/2560 แต่ไม่มากนัก ไม่กระทบราคา เพราะเกษตรกรน่าจะเก็บข้าวเข้ายุ้งฉางไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน เพราะรัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจนเร็ว ทำให้เกษตรกรวางแผนการเก็บข้าวทัน ส่วนโรงสีจะช่วยซื้อเก็บสต๊อกอีก 2 ล้านตัน รวม 4 ล้านตัน เปรียบเสมือนการสร้างเขื่อนไว้ช่วยกักไม่ให้ข้าวทะลักออกมา หากชะลอขายอีก 4-5 เดือนจะได้ราคาดีขึ้น

ลุ้นแชมป์ส่งออก

ร.ต.ท.เจริญมั่นใจว่า ปีนี้การส่งออกข้าวไทยจะได้ 11 ล้านตัน เกินกว่าเป้าหมาย 10.5 ล้านตัน โดยตั้งแต่
1 ม.ค.-17 ต.ค. 2560 ส่งออกแล้ว 8.41 ล้านตัน เฉือนกับอินเดียที่ส่งออกได้ 8.87 ล้านตัน เป็นปีที่การส่งออกมีแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ไทยมีโอกาสเป็นแชมป์ แต่ควรรักษาระดับราคาส่งออกข้าวหอมมะลิที่เหมาะสม ประมาณ 750-850 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปริมาณการส่งออกจึงจะไม่ลดลง

สาเหตุที่ทำให้ปริมาณส่งออกมากขึ้น เพราะต้นปีราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยลดลงตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าคู่แข่งมาก แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น ตันละ 750-800 เหรียญสหรัฐ ถือเป็นราคาที่แข่งขันได้ ตลาดอิหร่านกลับมาซื้อข้าวไทย 1 แสนตันจากที่หยุดซื้อไปนาน และเพิ่งจะคำสั่งซื้อข้าวนึ่งแบบรัฐต่อรัฐจากบังกลาเทศอีก 1.5 แสนตัน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวหอมมะลิ ตลาดหลักยังเป็นสหรัฐ 400,000 ตัน ฮ่องกง 200,000 ตัน จีน 100,000 ตัน และแคนาดา 100,000-200,000 ตัน

ปัจจัยเสี่ยงตลาดข้าว

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง 1-2 สัปดาห์นี้จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลัก หากอากาศเย็นไม่มีฝนตกลงมามาก จะทำให้ข้าวมีคุณภาพดี

และปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่า ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่า 8.5% จาก 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐเป็น 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินด่อง เวียดนามแข็ง 2% ทำให้ราคาข้าวไทยห่างจากเวียดนามถึง 30 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ มีความเป็นห่วงว่าข้าวเหนียวในปีนี้มีราคาลดลงจากปีก่อน ดังนั้น รัฐบาลควรผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวให้รัฐบาลจีนแทนข้าวขาวในส่วนของการส่งมอบข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ยังเหลือ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคา

ที่มา ประชาชาติธุรกิออนไลน์