แพทย์ ‘สวนปรุง’ เผยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพุ่ง ห่วงวัยรุ่นน่าห่วง-ความเครียดต้นเหตุ ภาคเหนือตอนบนรั้งแชมป์ฆ่าตัวตาย

นพ. ปริทรรศ ศิลปกิจ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกได้วิเคราะห์ประเมินว่าปี พ.ศ. 2564 การเจ็บป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับสอง รองจากโรคหัวใจขาดเลือด ในช่วงสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตจึงกำหนดแนวคิดในการลดสถิติการเจ็บป่วยและฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากโรคซึมเศร้า ภายใต้หัวข้อ “ซึมเศร้า.. เราคุยกันได้” โดยที่ จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดงานที่อุทยานการค้ากาดสวนแก้วเชียงใหม่

“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการเบื่อหน่ายทางอารมณ์ หดหู่ ไม่มีความสุข แม้แต่งานอดิเรกที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ มักเก็บตัวไม่อยากออกไปไหน กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ขณะนี้วัยรุ่นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเครียดจากการเรียน เพื่อนและผู้ปกครอง อยากให้เข้ามาคัดกรองที่โรงพยาบาลที่ดูแลด้านสุขภาพจิต เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย ขณะนี้สถิติการฆ่าตัวตายของภาคเหนือตอนบน คือ ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน และพะเยา ถือเป็นแชมป์ของประเทศ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเกิน 10 ต่อแสนประชากร ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร ยิ่งบวกกับปัญหาสุรา ยิ่งฆ่าตัวตายมากขึ้น ผลเสียของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หนักที่สุด คือ การฆ่าตัวตาย เบาลงมา คือ อาจเสียการเสียงาน เหมือนคนขี้เกียจ บ้างถูกด่าถูกตำหนิ หากคนรอบข้างใส่ใจสอบถาม เห็นอกเห็นใจ รับฟังผู้ป่วยจะดีขึ้น ปัจจุบันมีคนป่วยโรคซึมเศร้าแต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาประมาณ 40% อีก 60% เข้ารับการรักษาแล้ว “สำหรับโรงพยาบาลสวนปรุง มีคนรุ่นใหม่เข้ามาขอรับการตรวจรักษามากขึ้น มีทั้งพระสงฆ์ นักศึกษา นักเรียนมัธยม คนกลุ่มนี้ต้องการรับการรักษา หลังใช้วิธีคัดกรองอาการของตัวเองเบื้องต้นผ่านการตอบแบบทดสอบทางอินเตอร์เน็ต” น.พ. ปริทรรศ กล่าวและว่า โรคนี้รักษาหายได้ ไม่ใช่โรคบ้า แต่เกิดจากสมองล้า เพลีย เพราะความเครียด และมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สมองเสียสมดุล สารเคมีบางตัวจึงหลั่งออกมาน้อยเกินไป ทำให้อารมณ์ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น การให้ยาจะช่วยกระตุ้นสมองเกิดสมดุล การพูดคุย ให้กำลังใจ และหลักทางศาสนาจะช่วยประคับประคองจิตใจให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ค่ารักษาไม่แพง สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือแม้ไม่มีสิทธิใดๆ เราก็ทำการรักษา แพทย์จะคัดกรองอาการและให้ยาไปรับประทาน 1-2 สัปดาห์ จะดีขึ้น รายที่เป็นหนักอาจให้นอนพักที่โรงพยาบาลสักพัก

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน