“ซีพีเอฟ” ดันโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชนต่อเนื่อง ช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตคุณภาพ-ลดต้นทุน-สร้างรายได้เพิ่ม

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรในชุมชนต่อเนื่องปีที่ 15 มุ่งช่วยเพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุนค่าปุ๋ยของเกษตรกรรวมกว่า 1.28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้แก่ชาวชุมชนอย่างยั่งยืน

นายสมพร เจิมพงศ์รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ฟาร์มสุกรของบริษัทที่กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศตลอดจนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ร่วมกันจัดโครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน แก่เกษตรกรจำนวน 120 ราย เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด อาทิ นาข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง หญ้าเลี้ยงสัตว์ ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ต้นสัก ยางพารา ผักสวนครัว มะนาว กล้วย สวนไผ่ ฯลฯ ในพื้นที่รวมกว่า 3,800 ไร่ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยแก่เกษตรกรร่วม 1,280,000 บาทต่อปี โดยน้ำที่บริษัทแบ่งปันให้ชุมชนเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดในระบบแก๊สชีวภาพ สู่บ่อบำบัดน้ำหลังระบบ ต่อไปสู่บ่อพักน้ำ จนได้น้ำสะอาดที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืชทุกชนิด อาทิ โพแทสเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนิเซียม โซเดียม โดยผลการตรวจคุณภาพน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีโพแทสเซียมสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร มีไนโตรเจน 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชเติบโตเร็ว ผลผลิตเพิ่ม และมีคุณภาพดีขึ้น

ซีพีเอฟมีนโยบายให้ฟาร์มไม่ปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก โดยจะใช้รดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม บางส่วนนำมาบำบัดอีกครั้งและฆ่าเชื้อจนสะอาดเพื่อใช้ทำความสะอาดโรงเรือนแทนการใช้น้ำดี ช่วยประหยัดน้ำในธรรมชาติ กระทั่งเกิดปัญหาภัยแล้งเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชไร่พืชสวนที่อยู่ใกล้ๆฟาร์ม สังเกตเห็นความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ที่ปลูกอยู่ทั่วทั้งฟาร์มตามโครงการฟาร์มสีเขียว แม้ในช่วงฤดูแล้ง จึงปรึกษาขอใช้น้ำโดยทำหนังสือผ่านอบต. และผู้ใหญ่บ้านว่าต้องการใช้น้ำจากฟาร์มอย่างถูกต้อง

“หลังจากเก็บเกี่ยวเกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ต้นทุนลด กำไรเพิ่ม และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ จึงขอใช้น้ำเรื่อยมาทั้งในฤดูแล้งและในการเพาะปลูกทั่วไป โดยต่อท่อน้ำตรงจากฟาร์มสู่พื้นที่เพาะปลูก หรือบางส่วนอยู่ไกลฟาร์มก็จะจัดรถขนส่งน้ำไปให้ ขณะเดียวกันพนักงานซีพีเอฟในฟาร์มทุกแห่ง ยังใช้น้ำปุ๋ยนี้รดแปลงผักปลอดสารที่ปลูกภายในฟาร์ม นอกจากพนักงานจะได้รับประทานผักคุณภาพดีแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการขายผักเข้าโรงครัวของฟาร์ม” สมพร กล่าว

นายสิงห์คำ เคียงปัญญาเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพด ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ตนเองทำไร่ข้าวโพด 6 ไร่ เมื่อก่อนมีปัญหามากตอนฤดูแล้งที่น้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงทำเรื่องขอใช้น้ำจากฟาร์มสุกรจอมทองของซีพีเอฟ มาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 14 ปี โดยสูบน้ำปุ๋ยไปใช้โดยตรงปริมาณ 12,000 ลูกบาสก์เมตรต่อรอบการปลูก แต่ละปีปลูกได้ 2 รอบ พบว่าน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมีประโยชน์ต่อหน้าดินทำให้ดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากก่อนการใช้น้ำปุ๋ยได้ข้าวโพด 1,500 ตันต่อรอบการปลูก เพิ่มเป็น 2,500 ตันต่อรอบ คิดเป็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิมใช้ปุ๋ยไร่ละ 300 กิโลกรัม หลังจากใช้น้ำปุ๋ยก็แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย หรือใช้มากที่สุดเพียง 100 กิโลกรัมต่อไร่ ขอขอบคุณฟาร์มจอมทองที่แบ่งปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรอบฟาร์มมาตลอด ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

Advertisement

ด้าน นางภณิตา โชติรัตน์ทัตกุลผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า สหกรณ์ฯมีพื้นที่ติดกับฟาร์มสุกรบุรีรัมย์ และเห็นว่าฟาร์มมีน้ำปุ๋ยคุณภาพดี ประกอบกับช่วงปี 2559 ในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงประสานกับฟาร์มและทำเรื่องขอใช้น้ำผ่านอบต.คูเมือง จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าแปลงปลูกหญ้าเนเปีย 100 ไร่ของสมาชิกสหกรณ์ 30 ราย โดยใช้น้ำตลอดระยะปลูก 3 เดือน ปลูกได้ 3 รอบต่อปี หลังจากนำน้ำปุ๋ยมาใช้ พบว่าผลผลิตหญ้าเนเปียเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว จากที่เคยได้หญ้า 5 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 10 ตันต่อไร่ และยังช่วยลดการซื้อปุ๋ยเคมีลงถึงครึ่งหนึ่ง จากเคยใช้ปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันใช้เพียงไร่ละ 25 กิโลกรัม เกษตรกรทุกคนพอใจมากที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่มากขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง สามารถต่อยอดสู่การผลิตปุ๋ยจากหญ้าเนเปีย และไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอีกเลย ขอขอบคุณซีพีเอฟและฟาร์มบุรีรัมย์ที่จัดโครงการดีๆเช่นนี้ให้กับชุมชน

Advertisement

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์