นิสิตวิศวะ ม. เกษตร เจ๋ง!! ออกแบบเครื่องผ่าหลังกุ้ง ช่วยลดต้นทุน ประหยัดแรงงาน

กุ้ง เป็นสัตว์น้ำที่คนไทยนิยมบริโภคกันมาก และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งยังทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท การที่จะนำกุ้งไปรับประทานหรือนำไปแปรรูป มักจะพบปัญหาในการปอกเปลือกออกจากตัวกุ้ง และการผ่าหลังกุ้ง ซึ่งหากไม่มีความชำนาญหรือไม่มีประสบการณ์ในการปอกจะใช้เวลานาน หากใช้มีดในการช่วยปอก บางครั้งมีดอาจจะบาดมือได้ ดังนั้น การสร้างเครื่องผ่าหลังกุ้ง จะแก้ปัญหาการผ่าหลังและปอกเปลือกกุ้งให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย และที่สำคัญได้ปริมาณมาก เป็นการลดต้นทุนและค่าแรงงาน

น.ส. ณัฐสิมา นาคบุตร น.ส. ธัญญลักษณ์ สุทธนะ และ น.ส. มณีรัตน์ เหลืองทรงชัย นิสิตภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้ศึกษาออกแบบและสร้างเครื่องผ่าหลังกุ้ง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประหยัดต้นทุนแรงงาน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา  ดร. วรศักดิ์ สมตน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ในเบื้องต้น นิสิตทั้ง 3 คน ได้ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพของกุ้ง ที่ใช้ในการทดลองกับเครื่องที่สร้าง โดยได้วัดขนาด ความกว้าง ความยาว และความหนาของตัวกุ้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องผ่าหลังกุ้ง โดยออกแบบให้ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัด ชิ้นส่วนต่างๆ สามารถถอดประกอบได้ง่าย เพื่อให้สะดวกในการทำความสะอาดหลังการใช้งาน

เครื่องผ่าหลังกุ้งที่ออกแบบประกอบด้วย ชุดป้อนกุ้งมีลักษณะเป็นลูกกลิ้งบากร่องตรงกลาง จำนวน 2 ตัว คือ ตัวเล็กและตัวใหญ่ ซึ่งทำจากแท่งซุปเปอร์ลีน โดยลูกกลิ้งทั้ง 2 ตัว ทำหน้าที่ดึงและประคองตัวกุ้งเข้าสู่กลไกการผ่า ซึ่งเป็นแผ่นใบมีดกลมที่หมุนอยู่ตลอดเวลาขณะเครื่องทำงาน โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 90 วัตต์ เป็นต้นกำลังในการหมุนชุดลูกกลิ้งและใบมีด จากการทดสอบผ่ากุ้ง จำนวน 100 ตัว พบว่าใช้เวลา 3.02 นาที หรือคิดเป็นอัตราการผ่าหลังกุ้ง ประมาณ 1,900 ตัว ต่อชั่วโมง โดยกุ้งที่ผ่าได้นั้น พบว่าสามารถผ่าได้ตรงกึ่งกลางหลังกุ้งพอดี ซึ่งเร็วกว่าการใช้คนผ่าถึง 2.67 เท่า และสามารถผ่าได้ตรงกึ่งกลางหลังกุ้งพอดี จำนวน 75 ตัว หรือ 75% ความยาวและความลึกของรอยผ่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.22 และ 0.79 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะที่สามารถปอกเปลือกกุ้งและดึงเส้นดำออกได้ง่าย สำหรับกุ้งที่ใช้ในการทดสอบคือ กุ้งกุลาดำ และกุ้งขาวแวนนาไม (กุ้งขาว)

นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของนิสิตภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ได้คิดค้น และทำการศึกษาออกแบบและสร้างเครื่องผ่าหลังกุ้ง เพื่อให้ปอกเปลือกได้ง่าย เพิ่มกำลังการผลิต รวดเร็วขึ้น และเป็นการประหยัดต้นทุนค่าจ้างแรงงานด้วย สนใจติดต่อได้ที่โทรศัพท์ (034) 281-098 หรือ email: [email protected]