ทอดน่อง-ชมตลาดย้อนยุค วิถีมุสลิม ‘บ้านสะพานเคียน’ ช้อปสินค้าพื้นถิ่น-ขนมโบราณ

ตำบลควนโดน เป็นหนึ่งใน 4 ตำบล ของอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เล่ากันสืบมาว่า ชื่อนี้มาจากพื้นที่ในอดีตมีต้นโดนขึ้นหนาแน่นจนถูกนำมาเรียกขานเป็นชื่อหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอในเวลาต่อมา ตำบลควนโดนมีพื้นที่กว่า 26,000 ไร่ แบ่งเขตปกครอง 10 หมู่บ้าน ห่างจากเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย (รัฐเปอร์ลิส) 22 กิโลเมตร ประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่า 95% ตำบลนี้ยังเป็นที่ตั้งมัสยิดมากถึง 8 แห่ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ปลูกข้าว ทำสวนผลไม้ ค้าขาย และรับจ้าง จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิต

ด้วยความห่วงใยสังคมวัฒนธรรม วิถีดั้งเดิมที่อาจสูญหายไปตามยุคสมัย หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชน จึงร่วมกันสร้างพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นในพื้นที่บ้านสะพานเคียน หมู่ที่ 2 ตำบลควนโดน ในรูปแบบของ “ตลาดย้อนยุค” ริมคลอง ด้านหน้ามัสยิดบ้านสะพานเคียน ตลาดแห่งนี้นับเป็นแหล่งอาหาร สินค้าท้องถิ่น ที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติในการบรรจุ ห่อสินค้าต่างๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความพออยู่ พอมี พอกิน ใช้วัสดุที่อยู่ในชุมชนแทนกล่องโฟม

ที่สำคัญ ตลาดแห่งนี้มีขนมโบราณที่กำลังสูญหาย และขนมพื้นถิ่นที่หารับประทานได้ยาก จะหารับประทานได้เฉพาะในเทศกาลสำคัญเท่านั้นมารวมกัน อาทิ ขนมครกฝากใหญ่ หรือขนมครกยักษ์ ภาษาท้องถิ่นเรียก “ขนมอาปำจืด” เป็นขนมโบราณที่นำมารื้อฟื้น จำหน่ายภายในตลาดย้อนยุคแห่งนี้ สามารถรับประทานกับชา กาแฟในตอนเช้า เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก

“นางส้ะ ปะดุกา” แม่ค้าวัย 68 ปี จากบ้านบูเก็ตยามู หมู่ที่ 7 เป็นผู้สืบทอดสูตรขนมอาปำจืดมาจากรุ่นปู่ย่า ทำขนมอาปำจืดขายในตลาดแห่งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของลูกค้าและนักท่องเที่ยว อีกทั้งมีโอกาสเผยแพร่ขนมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับขนมอาปำจืดมีวิธีการทำง่ายๆ เพียงนำแป้งข้าวเจ้า น้ำกะทิ เกลือ นำมาผสมกัน ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบไปด้วยกระทะใบเล็กๆ  น้ำมันพืช ซึ่งนำมาเช็ดกระทะเพื่อไม่ให้แป้งติดกระทะ จากนั้นตั้งกระทะบนเตา ก่อนเทแป้งลงในกระทะ ปิดฝาไว้ประมาน 3 นาที เมื่อตัวขนมสุกแล้วตักขึ้น รับประทานคู่กับน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสหวาน สามารถทานได้ทุกวัย ขายในราคาเพียง 2 ชิ้น 5 บาท

“ทำขนมโบราณสมัยแต่แรก เพราะในสมัยก่อนไม่มีตัวแม่พิมพ์แบบขนมครก เลยทำกันมาแบบนี้ แต่วิธีการทำคล้ายๆ ขนมครก เป็นขนมที่หากินได้ยากในยุคนี้ จึงอยากทำขนมนี้ขึ้นเพื่อสื่อความย้อนยุค ซึ่งขนมจะมีรสชาติหวาน มัน ติดเค็มนิดๆ คนสมัยก่อนนิยมทานคู่กับชา กาแฟ” นางส้ะ กล่าว

นอกจากนี้ยังมี “ขนมอาปมแลงัง” ขนมพื้นถิ่นอีกชนิด ที่ทำในกระทะเช่นกัน ส่วนผสมหลัก คือ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลโตนด ไข่ น้ำเปล่า นำมาผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นตั้งกระทะให้ร้อน ก่อนเทขนมลงไป ปิดฝา เมื่อสุก ตักตัวขนมขึ้นจากเตา รับประทานคู่กับมะพร้าวอ่อน ตลาดนี้ขายในราคาถูกแสนถูกเพียง 3 ชิ้น 20 บาท ส่วนหนึ่งขนมท้องถิ่นราคาไม่แพง เนื่องจากใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น

Advertisement

“วิสูตร พฤกษสุวรรณ” นายอำเภอควนโดน กล่าวว่า อำเภอและส่วนราชการเข้ามาสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการตลาดย้อนยุค วิถีชุมชนบ้านสะพานเคียน และการค้าขายสินค้าของชุมชน สินค้าโอท็อปที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อำเภอยังส่งเสริมเยาวชนร่วมทำกิจกรรมทางสังคม ส่งเสริมความกล้าแสดงออกของเด็กที่ตลาดแห่งนี้ด้วย

ด้าน “ยะโกบ โต๊ะประดู่” นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ควนโดน กล่าวว่า ตลาดนัดชุมชนควนโดนจัดขึ้นเพื่อตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล และตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ในตลาดย้อนยุคแห่งนี้มีกลุ่มแม่บ้าน แม่ค้า ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม คือ เน้นใช้วัสดุธรรมชาติและสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และรณรงค์เรื่องของการทำความสะอาดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการอยู่แบบพอเพียงในความพออยู่พอกิน

Advertisement

ขณะที่ “วินิช ตาเดอิน” ประธานสหกรณ์ร้านค้า กล่าวว่า การจัดกิจกรรมตลาดย้อนยุคขึ้นภายในชุมชนเพื่อตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ในตัวสินค้าราคาถูก ราคาประหยัด เน้นใช้วัสดุที่มีในชุมชนมาใช้ประโยชน์ทางการตลาด ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ให้เยาวชนมาศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการกำจัดขยะในแม่น้ำลำคลอง หันมารณรงค์การใช้ใบตองแทน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกหลาน เยาวชน

ตลาดย้อนยุควิถีชุมชนบ้านสะพานเคียน นอกจากเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิตจากท้องถิ่น สินค้าโอท็อป ขนมโบราณ ทั้งขนมอาปำจืด ขนมอาปมแลงัง ยังมีขนมแนหรำ ขนมอาปมจี ขนมจูจอ ยังเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศที่ร่มรื่น สบายตา ชาวชุมชนแต่งกายแบบไทยมุสลิมที่สวยงามมาจับจ่ายสินค้าท้องถิ่นกันทุกวันจันทร์แรกของเดือน เริ่มเปิดตลาดตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

ขอบคุณข้อมูลจาก พัชรี เกิดพรม