อธิบดีกรมการค้าภายในลงพื้นที่อีสาน ติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว

อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่อีสาน ติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว เนื่องเป็นช่วงผลผลิตกำลังออก พร้อมติดตามโครงการ แอพพลิเคชั่น จองรถเกี่ยวข้าว รับเกษตรกรสนใจเข้าร่วมมากขึ้น

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2560 ว่า เพื่อชี้แจงและติดตามมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 เพื่อรองรับผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป อีกทั้ง เปิดรับฟังปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อนำไปแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อติดตามโครงการนำร่อง ที่กรมการค้าภายในดำเนินการด้านการบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวโดยนำเรื่องของการใช้ Application ซึ่งกรมฯได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำ Application“จองรถเกี่ยว” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่

โดยกรมฯได้นำร่องโครงการนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ ซึ่งดำเนินโครงการในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเดชอุดม อำเภอเขื่องใน อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอตระการพืชผล เบื้องต้น พบว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกร ชมรมรถเกี่ยวข้าวของจังหวัด ซึ่งยังได้รับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จครั้งนี้ กรมฯ จะขยายพื้นที่การดำเนินการไปในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญในพื้นที่อื่น ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และพะเยา จำนวน 1,200 ราย ล่าสุด พบว่า มีเกษตกรสนใจ ดาวน์โหลด Application “จองรถเกี่ยว” เพื่อใช้งานแล้วจำนวน 555 ราย ลงทะเบียนใช้งาน 472 ราย และจองรถเกี่ยวข้าว ในระบบจำนวน 174 ราย

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ประมาณ 2.5 ล้านตัน 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2560/61 โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 8 ล้านตัน ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย 60 – 180 วัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์