เผยแพร่ |
---|
นักวิชาการอัดพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวทุบอุตฯ รายเล็ก ชี้ไทยติดกับดักค่าแรงราคาถูก เป็นข้อจำกัดนโยบาย 4.0 การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของรัฐ ล้มเหลวสิ้นเชิง เอกชนโวยรัฐให้ยกเลิก 10 อาชีพสงวน ห้ามต่างด้าวทำ ชี้ล้าสมัย ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง
นายศุภชัย ศรีสุชาติ ผอ.สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานเสวนา “แรงงานข้ามชาติ ช่วยเหลือหรือวุ่นวาย” ที่ มธ.จัดขึ้นว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของ คนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ขนาดเล็กที่มีการจ้างงานในครัวเรือน และสถานประกอบการที่อยู่ใกล้ชายแดนที่ใช้แรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
การใช้แรงงานต่างด้าวเข้มข้นเป็นข้อจำกัดของนโยบายผลักดันประเทศไทย 4.0 ได้ เพราะไทยยังติดกับดักการใช้ต้นทุนแรงงานถูก ไม่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ระยะยาวควรระบุประเภทงานที่คนต่างด้าวทำได้มากขึ้น
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามต่างด้าวประกอบอาชีพ 10 อาชีพ ซึ่งไม่ได้เป็นการแสดงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์หรือส่งเสริมภูมิปัญญาไทยแต่อย่างใด และไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง อาชีพที่สงวนให้คนไทย 39 อาชีพ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งผ่านมา 38 ปีแล้ว ทำให้ล้าสมัย กลายเป็นข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงในบางอาชีพ
10 อาชีพที่ขอให้ยกเลิกการห้ามต่างด้าวทำ ประกอบด้วย งานกรรมกร งานกสิกรรม (เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ ประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา งานควบคุมฟาร์ม) ก่ออิฐ (งานช่างไม้หรืองานก่อสร้าง) เจียระไนหรือขัดเพชรหรือพลอย ทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม ทำรองเท้า ทำหมวก ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เครื่องปั้นดินเผา ทำมีด
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวโน้มแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ปี 2560 มีแรงงานต่างด้าว 3,467,000 คน เนื่องจากไทยมีความไม่คงเส้นคงวาจาก นโยบายแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของรัฐ ทำให้การแก้ปัญหาล้มเหลวสิ้นเชิง
ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด