กองทุนร่วม 5 เสือการยาง ดันราคาวิกฤตซ้ำ-สต๊อกท่วมตลาด

สถานการณ์ยางพาราปะทุอีกครั้ง เมื่อตัวแทนสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
โดยเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงขันก่อตั้งร่วมกับ 5 บริษัทใหญ่ภาคเอกชนจำนวน 1,200 ล้านบาท รับซื้อยางไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส ประมูลซื้อยางเฉพาะกลุ่มตนเองและซื้อในพื้นที่ไม่ถูกต้อง 2. การเก็บยางในสต๊อกไม่ถูกวิธี และ 3. ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อปุ๋ยให้กับเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาดถึง 2 บาท/กิโลกรัม และมีความล่าช้า จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพิจารณาปลด นายธีธัช สุขสะอาดออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กยท.
ส่วนชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ให้กองทุนรักษาเสถียรภาพยางพาราของบริษัท ร่วมทุนฯ ยกเลิกการเข้าซื้อยางและให้ กยท.เป็นผู้ดำเนินการเอง 2. เน้นการใช้ยางพาราในประเทศ 3. สั่งพักงาน นายธีธัช นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนราคาตกต่ำจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้แล้ว และได้บอกความจริงกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯว่า ซึ่งการบริหารจัดการของ กยท.และบอร์ดบริหารชุดนี้ไร้คุณภาพ จึงนำเสนอให้ปลดทั้งชุด
การรุกของชาวสวนยางต่อนายธีธัชรวมถึงบอร์ด กยท. ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะมีการกระทบกระทั่งกันมาตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ นายธีธัช และบอร์ด กยท. ตัดสินใจเทขายยางในสต๊อก 3.1 แสนตันที่ซื้อมาตั้งแต่กลางปี 2555 มีการนำออกประมูลขายถึง 5 ครั้งโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวสวนยาง ทำให้ราคายางจาก กก.ละ 100 บาท ราคาไหลรูดลงตลอด
ต่อมา กยท.ตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด กับ 5 บริษัทเอกชนรายใหญ่เพื่อเข้าซื้อยางในตลาดกลาง 6 แห่งทั่วประเทศ ในขณะที่การเปิดประมูลยางช่วงต้นปีชาวสวนมองว่า เป็นการช่วยผู้ส่งออกได้มียางส่งมอบตามออร์เดอร์ที่ขายล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังไม่พอใจที่ กยท.เก็บเงินค่าสงเคราะห์ยางที่ส่งออกหรือเงินเซสจาก กก.ละ 1.40 บาทเป็น 2 บาท ซึ่งชาวสวนยางมองว่าเก็บแพงเกินไป
จุดปะทุสุดท้ายคือ กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของบริษัทร่วมทุนฯประมูลซื้อยางผ่านตลาดกลางแล้ว กองไว้เต็มตลาดกลาง ทำให้การประมูลซื้อขายยางช่วงวันที่ 30 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ราคาร่วงลงถึง 6 บาท จาก กิโลกรัมละ 51.50 บาท เหลือ 46.50 บาท
หากพิจารณาถึงความก้าวหน้าของมาตรการต่างๆ ในการรักษาเสถียรภาพราคายาง หลายมาตรการยังย่ำอยู่กับที่ อย่างไรก็ตาม การสอบสวน นายธีธัช ของบอร์ด กยท.ผลออกมาไม่ว่านายธีธัชจะผิดหรือไม่ผิด หรือประเมินผลงานผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ปัญหาหลักเบื้องต้นของยางไม่ได้หมดไป โดยเฉพาะการผลิตล้นตลาด

โดยคาดว่าปี 2560 ผลผลิตจะมากกว่าความต้องการ 5 หมื่นตัน และปี 2561 ผลผลิตจะมากกว่าความต้องการ 4.38 แสนตัน เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
ดังนั้น เมื่อดีมานด์ซัพพลายไม่สมดุลกันย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพราคา และดันราคาให้ดิ่งลงมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ