ธุรกิจเมืองตรังวูบ 70% พิษราคายางดิ่ง

ธุรกิจเมืองตรังโคม่าตามราคายางพารา ผลประกอบการดิ่งเหว 70% ในรอบ 5 ปี ขณะที่การลงทุนใหม่ไม่ขยับหวั่นความเสี่ยงสูง อัด กยท.ทำงานผิดพลาด ฉุดราคาร่วงต่อเนื่อง แฉราคาไม่เป็นไปตามกลไกการตลาด จี้รัฐบาลหนุนการแปรรูปจริงจัง

นายพิชัย มะนะสุทธิ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดตรังถือว่ายังชะลอตัวและเงียบเหงา ซึ่งเป็นผลมาจากราคายางพาราที่ตกต่ำมาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน สภาพคล่องทางการเงินติดขัดไปหมด เรื่องนี้ก็ได้แต่บอกผู้ประกอบการทุกท่านว่า เราต้องอดทน และมีความพยายามในการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น การลงทุนก็ต้องมีความแตกต่างไม่ซ้ำแบบกัน ต้องลงทุนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง และยอมรับว่าที่ผ่านมาจนถึงช่วงนี้ยังไม่ค่อยมีนักธุรกิจรายใดกล้าลงทุน เพราะมีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ ผลจากราคายางพาราที่ตกต่ำ ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ บ้านที่อยู่อาศัย ยอดขายลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือลดลงไปกว่า 65-70% เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคายางพาราสูงสุด หรือในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าต้นปีนี้จะดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ครึ่งปีหลังมานี้ก็แผ่วลงไปอีก ทำให้หลายคนท้อ

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจที่ถือว่ายังคงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีก็คือ ด้านอุตสาหกรรมการส่งออกที่ต่างชาติยังมีความต้องการ อาทิ ไม้ยางพาราที่ตลาดจีนยังมีความต้องการอยู่ ด้านการท่องเที่ยวก็ยังพอไปได้ แต่ไม่ถึงกับดีมากนัก หากท่องเที่ยวชายฝั่งกระเตื้องก็น่าจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นได้

“นอกนั้นก็เป็นเรื่องอาหารการกินที่คนตรังยังมีนิสัยการกินนอกบ้าน ก็ยังพออยู่ได้ โดยเฉพาะรายเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง ราคาไม่สูงนัก แม้ลูกค้าจะลดปริมาณลงจากเคยกินมื้อใหญ่ๆ ราคาสูง ก็ลดปริมาณและปรับราคาให้น้อยลง เริ่มหันมาทำกินที่บ้านกันเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมก็ยังพออยู่ได้ ดังนั้นช่วงนี้ผมจึงถือว่าเป็นช่วงแห่งการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อให้ผ่านภาวการณ์นี้ไปให้ได้ เป็นการทดสอบความสามารถของผู้ประกอบการว่าจะนำพาธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ แต่หากราคายางพาราปรับตัวในทางที่ดีขึ้น ผมก็มั่นใจว่าภาคธุรกิจน่าจะกลับมาคึกคักได้เช่นเดิมอย่างแน่นอน และคิดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายลงไปกว่านี้อีกแล้ว” นายพิชัยกล่าว

เช่นเดียวกับ นายภราดร นุชิตศิริภัทรา รองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง และเลขานุการชมรมเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำยางสดต่ำสุดร่วงลงไปถึงกิโลกรัมละ 35-37 บาท ก่อนจะขยับขึ้น-ลงแต่ไม่เกิน 48 บาท/กก. ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้ลดลง ขาดกำลังซื้อ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้า เศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับปัญหาราคายางที่เกิดขึ้น สาเหตุหนึ่งก็คือความผิดพลาดในการดำเนินงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่วนกลาง ที่ไม่ใช่มืออาชีพ มีการวิเคราะห์สถานการณ์ยางผิด และยังหันไปจับมือร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ หรือ 5 เสือยางพารา ทำให้บทบาทการตัดสินใจของ กยท.แทบจะไม่มี และทิศทางการกำหนดนโยบายยางพาราส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปตามความต้องการของ 5 เสือ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวแล้ว ตนมองว่านายทุนก็คือนายทุน ที่ทำธุรกิจก็หวังผลกำไรของตนเองยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

“ราคาที่เป็นอยู่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาด เมื่อดูราคาในตลาดโลกแม้ราคาจะไม่สูงนัก แต่ราคาที่ประเทศไทยก็ไม่น่าจะต่ำลงขนาดนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการค้าขายไปสู่ตลาดโลกอยู่ในเงื้อมมือของผู้ค้ารายใหญ่ ขณะที่ กยท.ไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างเท่าที่ควรจะเป็นเลย” นายภราดรกล่าว

นายภราดรกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลลงมาดูแลเรื่องยางพาราร่วมกับ กยท.อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการวางแผนบริหารจัดการยางพาราอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีการหาตลาดระบายที่แน่นอน ที่ผ่านมาภาครัฐเองเพียงแค่รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มที่มีตำแหน่งรายรอบ ที่บอกว่าเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวสวนยางอย่างแท้จริง แต่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจที่หวังผลทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหายางพาราที่เป็นระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ตนเห็นด้วยกับการทำระบบแบบสวนแปลงใหญ่ ที่ให้เกษตรกรมาร่วมทำ ร่วมขาย ลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภาครัฐต้องเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากขึ้น นำงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด และส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศให้มากที่สุดอย่างจริงจัง โดยมีการบูรณาการร่วมกันทุกกระทรวง พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการแปรรูปยางพาราให้เกิดขึ้นภายในประเทศให้มากที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 – วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560