ดีเอสไอ-เกษตรลุย 3 จว.อีสาน เร่งแก้หนี้นอกระบบฟ้องไล่ที่

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย นายอำนวย ปะติเส ประธานคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน ภาคประชาสังคมต่างๆ ร่วมจัดการประชุมหารือมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบ ถูกฟ้องร้องขับไล่ สูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจากการทำสัญญาขายฝาก จำนอง เช่าซื้อ และกู้ยืมเงินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

พ.ต.อ. ไพสิฐ กล่าวว่า กลุ่มลูกหนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ร้องขอความเป็นธรรมมายังศูนย์ฯ เนื่องจากได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ขายฝากและจำนองกับกลุ่มนายทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว พบว่ามีเจ้าหนี้ด้วยกันทั้งหมด 8 กลุ่ม มีพฤติการณ์ทำสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม นายทุนได้ฟ้องร้องขับไล่ หากลูกหนี้ไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินจะมีการข่มขู่คุกคาม ให้ชายฉกรรจ์กระทำการอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย มีลูกหนี้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 1,200 คดี ทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องคดีกว่า 278 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าตั้งแต่ปี 2556-2560 คดีความที่ฟ้องร้องมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะเดือนมกราคม 2560 เพียงเดือนเดียวมีคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลถึง 75 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฟ้องขับไล่ ซึ่งมีมูลหนี้จากสัญญาขายฝาก ลูกหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อทรัพย์คืนจากเจ้าหนี้ ทำให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย

นายอำนวย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและการทำสัญญา ขาดการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีจึงไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ทันท่วงที เป็นเหตุให้ถูกบังคับคดีและยึดที่ดินทำกิน ต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน โดยการนำหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามกรอบเวลาภายใน 3 เดือน การประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรมทางแพ่งอันเนื่องมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน