กลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู แก้ปัญหาความยากจน หนี้สินของสมาชิกด้วยวิธีการสหกรณ์

ความยากจน ที่เกิดจากปัญหาหนี้สินจากการกู้มาลงทุนทำการเกษตร ประกอบกับไม่มีช่องทางการตลาดเป็นของตนเอง จึงจำเป็นต้องส่งจำหน่ายให้กับโรงรับซื้อของพ่อค้าคนกลางเรื่อยมา ส่งผลให้เกษตรกรใน ต.วังชะพลู อ.ชาญวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ต้องจมอยู่ในวังวนหนี้จนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้

ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจนเกิดเป็นกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู โดยการนำระบบสหกรณฺมาใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม ในระยะแรกเป็นการสร้างรากฐานจากกลุ่มเล็กๆ และพัฒนาไปสู่กลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลูประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถพาสมาชิกก้าวข้ามความยากลำบากมาได้

นายเสริม บุญโกมล เลขานุการกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู มีสมาชิกกว่า 320 คน มีเงินหมุนเวียนเกือบ 1 ล้านบาท ซึ่งเดิมทางกลุ่มได้มุ่งเน้นที่จะให้โอกาสเกษตรกรที่มีความมานะในการทำการเกษตร แต่มีเงินทุนไม่มากพอ โดยการเปิดบริการด้านสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งยังแนะนำความรู้และจัดสรรให้สมาชิกได้ศึกษาการทำเกษตรกหลากหลายรูปแบบตามศูนย์ศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้สมาชิกได้นำความรู้มาพัฒนาการทำไร่ของตนเอง

ด้านนายสำเนียง หมวกสะอาด สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ตนมีอาชีพปลูกปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง จากเดิมไม่ว่าตนจะขายผลผลิตได้มากน้อยเพียงใด ก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ อีกทั้งยังต้องไปกู้เงินมาลงทุนเมื่อเริ่มฤดูกาลปลูกใหม่ แต่เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู ได้เรียนรู้การบริหารจัดการไร่อย่างเป็นระบบ ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำปุ่ยอินทรีย์ไว้ใช้ และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค ทำให้สามารถลดต้นทุนไปได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังจำหน่ายผลผลิตผ่านกลุ่ม ทำให้มีรายได้เพิ่มเนื่องจากต่อรองราคาได้ จากอดีตราคามันสำปะหลังอยู่ที่ 1,200 บาทต่อไร่ แต่เมื่อขายผ่านกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 บาทต่อไร่

เช่นเดียวกันกับ นายสมพงษ์ เชี่ยวเกตุวิทย์ สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลูอีกรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเพราะเข้าร่วมกลุ่ม ได้พัฒนาพื้นที่จากการปลูกพืชไร่มาปลูกพืชผักผสมผสานที่มีตลาดชุมชนรองรับ ทำให้มีรายได้ทุกวัน ประมาณวันละ 600 บาท ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พออยู่พอกินและมีเงินเก็บ

“เมื่อก่อนปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มก็หันมาปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างรายได้เสริม ส่วนการตลาดทางกลุ่มจะเป็นผู้หาตลาดให้ และขายด้วยตนเอง มีรายได้ทุกวัน ชีวิตมีความมั่นคงมากขึ้น” นายสมพงษ์ กล่าว

ผลสำเร็จจากการศึกษางานในรูปแบบกลุ่ม โดยยึดหลักการและวิธีการสหกรณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้สมาชิกส่วนใหญ่มีรายได้และมีความสุขมากขึ้นจากหนี้สินที่ลดลง และมีเงินเก็บมากขึ้น เนื่องจากทางกลุ่มได้ส่งเสริมให้สมาชิกมีเงินออม เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ควบคู่กับการพัฒนางานด้านบริการที่มุ่งให้การช่วยเหลือมวลสมาชิกให้มีความกินดีอยู่ดี และมีอนาคตที่มั่นคง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560