ทหารยโสธรอบรม ปชช. เจาะน้ำมันต้นยางนาใช้แทนดีเซล เติมเครื่องจักรกลเกษตร

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ ร.16 พัน 2 ค่ายบดินทรเดชา อ.เมืองยโสธร นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดอบรมโครงการกองทัพบกส่งเสริมพลังงานทางเลือกใหม่ ไบโอดีเซล ร.16 พัน 2 เดินตามรอยพ่อ โดยการเอาน้ำมันจากต้นยางนามาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ทดแทนน้ำมันดีเซล ใช้งานสำหรับเครื่องจักรทำการเกษตรรอบต่ำ เพื่อเป็นการต่อยอดนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ โดยมีนายไพโรจน์ วงศ์หนายโกฐ คณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เป็นวิทยากร ภายในงานมี พ.ท.กล้าณรงค์ วิสุตกุล ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา เจ้าหน้าที่ทหาร ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

พ.ท.กล้าณรงค์กล่าวว่า ตามที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 16 ได้จัดโครงการกองทัพบกส่งเสริมพลังงานทางเลือกใหม่ไบโอดีเซล เดินตามรอยพ่อ ร.16 พัน 2 โดยได้เชิญวิทยากรมาให้ความรู้และสาธิตการเจาะยางนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการผลิตน้ำมันยางมาใช้ประโยชน์ทดแทนน้ำมันดีเซล เพื่อนำไปพัฒนาใช้ในการทำเกษตรแบบพอเพียง

นายไพโรจน์กล่าวว่า สามารถนำน้ำมันต้นยางนา มาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล ใช้เติมรถไถนาเดินตาม 100% แต่ต้องเริ่มสตาร์ทจากน้ำมันดีเซลก่อน ส่งผลดีต่อเกษตรกร เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เป็นอย่างดี จากการวิจัยพบว่าน้ำมันจากต้นยางนาสามารถลดต้นทุนได้ 100% ซึ่งต้นยางนาจะเริ่มเจาะน้ำมันได้เมื่ออายุ 15-20 ปี วิธีการไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการนำสว่านไฟฟ้า 5 หุน เจาะลงไปในเนื้อต้นยางนาเฉียงขึ้น 45 องศา เจาะห่างจากพื้น 30-50 ซม. ลึก 15-20 ซม. จากนั้นใช้ขวดพลาสติกที่ต่อเป็นจุกสายยางประดิษฐ์ขึ้นเองเสียบเข้ากับรูที่เจาะไว้ แล้วนำดินน้ำมันปิดเพื่อไม่ให้สายหลุด ให้น้ำมันยางนาไหลลงขวด ทิ้งไว้ 2-3 วัน จะได้น้ำมันประมาณ 500-600 มิลลิลิตร และสามารถย้ายไปจุดอื่นได้อีก ส่วนรูแผลจากการเจาะก็จะเอากิ่งยางนาตอกอุดแทน ใช้เวลา 1 เดือนแผลที่เจาะจะประสานเซลล์เป็นเนื้อไม้เช่นเดิม เป็นการคืนเนื้อไม้เป็นธรรมชาติ ซึ่งน้ำมันจากต้นยางนาคล้ายน้ำมันดีเซล สามารถนำไปเติมเครื่องจักรกล รถไถนาเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้าได้เลย ปัจจุบันเราใช้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร สามารถทำงานได้1ชม. แต่หากผสมน้ำมันยางนาลงไปกับดีเซล อัตราส่วน 50 ต่อ 50 เครื่องยนต์สามารถทำงานได้นานถึง3ชม. เพราะน้ำมันยางนาเป็นน้ำมันทึ่ให้ค่าพลังงานที่สูง อย่างไรก็ตาม ที่ศูนย์ในจังหวัดนครพนมได้ทดลองใช้น้ำมันดังกล่าวมานานกว่า2ปีแล้ว และที่มีการทดลองใช้กับรถไถนาเดินตามเครื่องยนต์รอบต่ำ ก็ไม่มีปัญหา

ที่มา : มติชนออนไลน์