“สมชาย ชาญณรงค์กุล” ฟันธงปีหน้าทะลุเป้า 7 พันแปลงใหญ่

กว่า 3 ปี ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับโจทย์อันท้าทาย ในการปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงราคาพืชผลจากรายย่อยสู่การรวมกลุ่มของทุกฝ่าย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมชาย ชาญณรงค์กุล” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหัวหอกหลักถึงความคืบหน้าและทิศทางการขับเคลื่อนในปี 2561

Q : ความก้าวหน้าแปลงใหญ่ใน 3 ปี

ปี 2561 จะเพิ่มให้ได้ 1,838 แปลง ขณะนี้เริ่มรับสมัครแล้ว 6 หน่วย แบ่งเป็นด้านพืช 466 แปลง ปศุสัตว์ 100 แปลง ประมง 70 แปลง หม่อนไหม 16 แปลง ส.ป.ก. 11 แปลง ส่วนด้านข้าวอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (single command) ระดับจังหวัด พิจารณารับรองแปลง จริง ๆ แล้วไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่ ทำแปลงใหญ่มา 3 ปี ได้ 3 ล้านไร่ ถือว่าค่อนข้างตามเป้า ปีถัดไปกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ต้องมีแปลงใหญ่ไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะแปลงใหญ่ข้าวต้องมากขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นการเข้าสู่แปลงใหญ่โดยเกษตรกรเอง ภาครัฐไม่เข้าไปผลักดัน ดังนั้น เป้าหมาย 7,000 แปลงภายใน 5 ปี ตอนนี้เกินครึ่งแล้ว กว่าจะถึง 20 ปี เข้าสู่แปลงใหญ่ทั้งหมดได้

Q : ผลักดันแผนเชิงรุกปี 2561

เป้าหมายหลักคือพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ให้เข้มแข็งมากขึ้น ปีหน้าจะเน้นการพัฒนาเพื่อต่อยอดการดำเนินงานแปลงใหญ่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป้าหมาย 26,460 ราย ศพก. 1 แห่งต่อ 30 คน ให้เกษตรกรร่วมกันวางแผนการผลิต การตลาด บริหารจัดการร่วมกัน ทั้งหมด 882 ศูนย์ ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแห่งละ 2.5 แสนบาท ตอนนี้กรมได้ปรับแผน แบ่งแปลงใหญ่ เช่น พืชไร่อายุยาว ไม้ผล ข้าว โดยวางแผนทำงานเป็น 4 ไตรมาส เพื่อจะได้เห็นเป้าหมายชัดขึ้น โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณปี 2561 จะเป็นการบูรณาการรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการแปลงใหญ่ทุกระดับเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ให้มากขึ้น

Q : ปีหน้ายกระดับแปลงใหญ่ 4.0

ขณะนี้คัดเลือกมา 16 แปลง มีข้าว ประมง โคนม โคเนื้อ พืชไร่ ในจำนวนนี้มีการประชุมกำหนดระดับพื้นที่ที่ควรจะเป็น และให้เวลาสำรวจ 1 เดือนว่า สิ่งที่เกษตรกรควรมีคืออะไร สิ่งสำคัญ คือการใช้นวัตกรรม แต่ละแปลงต่างกัน หากแปลงใดขาดอีกแปลงต้องเติมเต็ม มีบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยใน 1 แปลงสามารถมีหลายบริษัท รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาช่วย เช่น แปลงใหญ่ลำไยได้ใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ บางพื้นที่ทำเองได้ขึ้นกับพื้นฐานเกษตรกร

Q : รัฐบาลคาดหวังแปลงใหญ่ประชารัฐ

เราวางแผนไว้ว่า 5 ปี ต้องได้ 7,000 แปลง ปีหน้าถึงแน่นอน แต่ประเด็นคือ เรื่องพื้นที่ที่ผ่านมาการเข้าไปทำแปลงให้มากขึ้นแต่พื้นที่กลับลดลง แปลงเล็กไม่มีพลัง ถ้าแปลงใหญ่จะได้เข้มแข็งมีอำนาจต่อรอง สิ่งที่ผมทำคือต้องการขยายพื้นที่ ไม่ใช่ขยายจำนวนแปลง ต่อไปเริ่มนำร่องในภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา กลุ่มข้าว และไม้ผลคือภาคตะวันออก เช่น แปลงใหญ่ลำไย มีนวัตกรรมตัดแต่งกิ่ง แต่งช่อให้พอดีลูกจะใหญ่ขึ้น ด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยมีมาผนวกกัน จะกลายเป็น 4.0

Q : แปลงใหญ่กับปัญหาที่ต้องไขก๊อก

การบริหารจัดการ ต้องยอมรับว่า เกษตรกร ข้าราชการบางที่พื้นฐานแตกต่างกัน บุคลากรของ sc บางคนไม่ได้มาจากสายเกษตร ในการประชุมจึงเห็นควรให้มีการเปลี่ยนแปลง ง่าย ๆ คือ sc ที่กองกำลังไม่มี งบประมาณไม่มี อาจจะไม่ชำนาญ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงสั่งการให้เข้มงวดกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ศพก. จะต้องขยายศูนย์ไป แปลงใหญ่ต้องสร้างหัวขบวนให้ได้ 16 แปลง จาก 50 กว่าแปลง ต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์