ลูกหว้า น้ำปานะ ในสมัยพุทธกาล

ลูกหว้า เป็นผลไม้ 1 ใน 8 อย่างที่ถูกบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก ว่าสามารถนำมาทำน้ำปานะ หรือน้ำอัฐบานให้พระภิกษุสงฆ์ฉันได้หลังยามวิกาล หากเรามาพิจารณาให้ดีๆ แล้วนั้น น้ำปานะดังกล่าว มิได้เป็นเพียงเครื่องประทังความหิวในยามวิกาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคุณประโยชน์ทางการรักษาโรคอีกด้วย

หว้า มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Jambolan ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) วงศ์ : Myrtaceae วงศ์เดียวกับชมพู่ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-35 เมตร ผลสามารถนำมารับประทานได้ โดยผลสดมีลักษณะรูปรีแกมรูปไข่ ฉ่ำน้ำ มีสีม่วงดำ ผิวเรียบมัน รสชาติเปรี้ยวฝาดอมหวาน คนไทยสมัยก่อนมักจะปลูกไว้บริเวณตามคันนา เนื่องจากต้นหว้าเป็นต้นไม้ที่ชอบความชุ่มน้ำ และเป็นดัชนีชี้วัดปริมาณน้ำฝนที่ตก หากปีใดลูกหว้าดก ออกช่อสีม่วงตามท้องนา แสดงว่าปีนั้นน้ำฝนมาก นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่ให้บอกความเป็นไปของสภาพอากาศแล้ว ผลของต้นหว้ายังเป็นผลไม้ชูกำลังให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี และเป็นยารักษาโรคได้ เนื่องจากผลหว้ามีลักษณะสีม่วงดำและประกอบไปด้วยสาร “แอนโธไซยานิน” ซึ่งสารนี้มักพบในพืชผัก ผลไม้ที่มีสีม่วงเข้มหรือสีแดง สารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายลดความเสื่อมของเซลล์ มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ ลดน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และยังมีส่วนประกอบของสาร “แทนนิน” ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยรักษาอาการท้องเสีย และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

วิธีทำน้ำลูกหว้าหรือน้ำปานะ ก่อนอื่นนำผลลูกหว้าสุกไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วฝานเนื้อลูกหว้าเป็นชิ้นๆ ใส่น้ำต้มให้เดือด จากนั้นกรองกากออก ปรุงรสด้วยน้ำเชื่อม เกลือ และน้ำมะนาว แล้วทิ้งไว้ให้เย็น ใส่น้ำแข็งดื่ม

คงไม่ยากเกินไปสำหรับขั้นตอนการทำน้ำลูกหว้า นอกจากจะทำไว้ดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพแล้ว เรายังสามารถนำน้ำลูกหว้านี้ไปถวายที่วัด เพื่อเป็นน้ำปานะได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากคอลัมน์ เรือนไทย โดย อาทิยา เสมอวงษ์ อภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 159