วิถีสโลว์ไลฟ์ในราชบุรี! ชีวิตพอเพียง…ศึกษาศาสตร์พระราชาจากตำรา “วิชาหม้อดิน”

ชีวิต “พอเพียง” ตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ช่วยเหลือประชาชนมากมายในเรื่องของการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริม พัฒนาตนเองให้มีอยู่มีกินจนถึงปัจจุบัน เเละยังมีการจัดตั้งโครงการมากมายเพื่อฟื้นฟูป่า พร้อมปลูกพืชพรรณไม้ต่างๆ

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษา วิชา ๙ หน้า ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ “วิชาหม้อดิน” ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เเละอาชีพ

เเต่เดิมพื้นที่โครงการแห่งนี้เป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพื้นไร่ แต่มีการใช้ดินที่ผิดวิธี ทำให้หน้าดินเกิดความเสียหาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์จนเกิดความแห้งแล้ง ไม่สามารถปลูกพืชได้ เเม้จะมีการปลูกก็มักจะให้ผลผลิตที่ลดลงมาก ซึ่งดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายและมีหิน ส่วนพื้นที่บนเขามีการตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า ทำให้ต้นไม้เริ่มหดหายไป นำมาซึ่งความแห้งแล้ง

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า ในหลวง ร.9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโครงการ “ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 และได้มีพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีการปรับปรุงดินเสื่อมโทรม ขุดอ่างเก็บน้ำ และสำรวจที่ดินโดยละเอียดว่าจุดใดที่สามารถจะปลูกต้นไม้ได้ สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ จัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในลักษณะศูนย์ศึกษาการพัฒนาขนาดย่อม

ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เสด็จพระราชดำเนินมาติดตามผลการดำเนินโครงการ พร้อมมีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝก เพื่อช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน อนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันดินที่ถูกกัดเซาะเป็นร่องลึก ทั้งยังปลูกหญ้าแฝกบริเวณโดยรอบไม้ผลและไม้ยืนต้น ปลูกในลักษณะเป็นแนวครึ่งวงกลมตามแนวลาดชัน เพื่อป้องกันปุ๋ยหรือน้ำไหลออกไปทางอื่น ทำให้ต้นไม้ยังคงความชุ่มชื้นและเกิดผลผลิต

นอกจากนี้ ในหลวง ร.9 ยังทรงให้ดูแลป่า อย่าไปรังแกป่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ให้มีใครรบกวน เเละป้องกันไฟป่า ในระยะเวลา 30-40 ปี ป่าแห่งนี้จะฟื้นคืนสภาพ และให้เลี้ยงสัตว์ป่า ทำเป็นอุทยานเขาเขียว พร้อมสำรวจป่าแห่งนี้ว่ามีชีวิตพรรณไม้และสัตว์ป่าอะไรบ้าง พระองค์ทรงปลูกต้นประดู่ ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเชิงเขาเขียวอีกด้วย

ในปัจจุบัน “ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม” ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญของ จ.ราชบุรี ป่าคืนสภาพกลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรได้ มีการเพาะเลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงหมู แพะ ไก่ ปลูกต้นผลไม้หลากหลายชนิด เช่น มะม่วง ส้มโอ มะละกอ และปลูกผักต่างๆ ที่สามารถออกผลผลิตนำมาขายเพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร ตามรอยชีวิต “พอเพียง” ตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ราชบุรี” นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เป็นเสน่ห์ การเดินทางที่ไม่ใกล้จากกรุงเทพฯ มากนัก ยังมี “ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก” อีกหนึ่งตลาดน้ำ “ดำเนินสะดวก” เป็นเสน่ห์อีกอย่างของ จ.ราชบุรี อีกด้วย

นายวิศรุต อินแหยม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อน รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวกเมื่อปี 2409 เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง สะดวกในการเดินทาง ขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ต่างๆ

เมื่อขุดคลองเสร็จแล้ว ร.4 พระราชทานนามว่า “คลองดำเนินสะดวก” ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดพลี ถือว่าเป็นตลาดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย สมัยนั้นคนจีนอาศัยอยู่มาก จนทำให้เป็นตลาดน้ำชุมชนของไทยจีน เกิดเป็นวิถีริมคลองที่มีเสน่ห์ของ จ.ราชบุรี เลยทีเดียว

ในปี 2510 ททท. ได้ทำการประชาสัมพันธ์ตลาดน้ำออกไป ทำให้เป็นที่รู้จัก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังเป็นอย่างมาก ตลาดน้ำ “เหล่าตั๊กลัก” เป็นตลาดเก่า เมื่อมีการตัดถนน ได้ย้ายตลาดน้ำดำเนินสะดวกไปที่ใหม่ มีความสะดวกสบายมากขึ้น คือตลาดน้ำดำเนินสะดวกในปัจจุบัน ทำให้ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักมีนักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก

ในปัจจุบัน ททท. ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับของตลาด “เหล่าตั๊กลัก” อีกครั้ง โดยการเชิญชวนชาวบ้านเข้าร่วมอบรมฟื้นฟูตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีผัดไทยที่ขึ้นชื่อของตลาดน้ำแห่งนี้ให้ได้ลิ้มรส รวมถึงตอนเย็นยังมีกิจกรรมสอนนักท่องเที่ยวพายเรือ หรือการสอนวาดภาพจากกาบกล้วยอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีรถรับส่ง พาไปชมสถานที่ท่องเที่ยว ไหว้พระที่วัดจีน เมื่อถึงเทศกาลกินเจ จะมีกิจกรรมให้ดูอีกมากมาย มีการเที่ยวชมสวนมะพร้าว เพราะผู้สูงอายุที่นี่สวนใหญ่ปลูกสวนมะพร้าวเพื่อทำการเกษตรและประกอบอาชีพให้ตนเอง

นอกจากจะได้ตามรอยวิถีพอเพียงตามในหลวง ร.9 เเล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของคนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ที่พวกเขาต่างพากันอนุรักษ์เอาไว้ เเละคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เเวะไปเยี่ยมเยือน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์