ยิ่งสูงวัย ยิ่งเสี่ยง “งูสวัด”

โดย พญ.ธนีศา ภานุมาตรัศมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและการชะลอวัย “ธานิศาคลินิก”

งูสวัดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

แต่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาทันท่วงที ยิ่งพบแพทย์ไว ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน

งูสวัด (shingles) คือโรคติดเชื้อไวรัส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) โรคอีสุกอีใสสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่งูสวัดนั้นจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น โดยเมื่อเชื้อดังกล่าวจู่โจมร่างกายจนเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ก็จะไปหลบตามปมประสาท และกลายเป็นงูสวัดในภายหลัง เมื่อร่างกายอ่อนแอ

คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ก็คือทุกคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน แต่ความเสี่ยงนั้นจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น หรือเป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ใช้การรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น สเตอรอยด์ ผู้ที่อยู่ในช่วงการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ จึงทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

การรักษาจะรักษาตามอาการร่วมกับใช้ยาต้านไวรัสเพื่อเร่งกระบวนการการหายของโรคและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

ความร้ายกาจของโรคนั้น อยู่ที่ภาวะแทรกซ้อนนั่นเอง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดในผู้สูงอายุ มากกว่าวัยอื่น ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการมองเห็นอันเนื่องจากเกิดแผลในกระจกตา การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการปวดที่ปลายประสาท หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและเส้นประสาท เช่น รัมเซย์ฮันต์ซินโดรม (ramsay hunt syndrome) บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือไข้สมองอักเสบ ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อย ทั้งนี้การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

และเนื่องจากการรักษาโรคงูสวัดไม่สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ 100% การป้องกันโรคจึงเป็นทางเลือกที่แพทย์แนะนำ นั่นคือเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดซึ่งมีให้บริการแล้วในประเทศไทย และฉีดเพียงแค่เข็มเดียวเท่านั้น

สำหรับอายุที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนคือ 60 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง ผู้ป่วยอาจเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนอายุ 60 ปีก็ได้เช่นกัน

“การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดนั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ไม่เป็นโรคเลย แต่เป็นการช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคได้กว่าครึ่ง และลดความรุนแรงของโรคลงได้”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์