โรงเรียนนายร้อย มิติใหม่ด้านเกษตรไทย

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส

มีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บิดาผู้ให้กำเนิดโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2491) ซึ่งพระราชทานแก่นักเรียน

นายร้อยชั้นมัธยม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452 ความว่า “…การทหารนั้น ที่จะสำเร็จไปได้ก็โดยมีผู้บังคับบัญชาควบคุมให้พอแก่การ ถึงแม้ว่าเราจะมีพลทหารมากมายเท่าใดก็ดี แต่ไม่มีผู้ควบคุมทหารเหล่านั้น ก็ไม่สามารถจะได้ชัยชนะแก่ข้าศึกได้เลย ย่อมต้องอาศัยนายทหารที่มีความรู้และสติปัญญา สามารถที่จะนำไปสู่ชัยชนะได้ และควบคุมบังคับบัญชาในเวลาปกติ ก็นายทหารนั้นจะได้มาจากไหนเล่า ก็ต้องได้มาจากโรงเรียนนายร้อย คือพวกเจ้านี่เอง…”

โรงเรียนนายร้อยทหารบก เดิมตั้งอยู่ที่ ถ.ราชดำเนิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ต่อมาย้ายไปที่เขาชะโงก จ.นครนายก ในปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้หลักสูตร 5 ปี เมื่อจบออกไปเป็นผู้บังคับหมวด ต้องปกครองดูแลพลทหารกองประจำการในหน่วยทหารทั่วประเทศ ได้มีความรู้เกี่ยวกับการเกษตรไปถ่ายทอดได้ด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศอู่ข้าว อู่น้ำ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ผู้เขียนดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ทราบว่า โรงเรียนนายร้อยได้เพิ่มมิติใหม่ด้านการเกษตร นอกเหนือจากด้านการทหารที่เข้มข้น

เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 ผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (พล.ท.สิทธิพล ชินสำราญ) สรุปผลการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการดำเนินโครงการพัฒนา “โรงสีข้าวพระราชทาน” และการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงเรียนนายร้อย ต่อประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พล.อ.ดนัย มีชูเวท) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรเข้าร่วม

โครงการโรงสีข้าวพระราชทาน เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สืบเนื่องจากปัญหาราคาข้าวเปลือกในฤดูการผลิต 2559/60 ที่ตกต่ำทั่วประเทศ โดยวางแผนช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1.การช่วยเหลือระยะเร่งด่วน ด้วยการให้บริการลานตากข้าวเปลือกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกจัดแบ่งเวลาใช้ลานตากข้าว 2.การช่วยเหลือในระยะยาว ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าท้องตลาดประมาณตันละ 500 บาท เตรียมแปรรูปเป็นข้าวสารส่งให้กับโรงเลี้ยงนักเรียนนายร้อย และโรงเลี้ยงของกองทัพทหารราบ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปัจจุบันรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร 20 ราย จำนวน 98 ตัน

โครงการนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาขายให้กับโรงสีข้าวพระราชทานอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะปิดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงดินให้กับเกษตรกรโดยรอบโรงเรียนนายร้อย พื้นที่ 1,700 ไร่ เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตลดต่ำลงกว่าที่คาด ทางโรงเรียนจึงร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดนครนายก และมูลนิธิอุษรินทร์ วิเคราะห์ปัญหาของเกษตรกรรอบพื้นที่โรงเรียนนายร้อย ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าลักษณะดินบริเวณพื้นที่โดยรอบมีความเป็นกรด ส่งผลให้การดูดซึมธาตุอาหารของพืชที่เพาะปลูกในดินไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ผลผลิตลดต่ำลง ดังนั้น จึงวางแผนปรับปรุงดินให้กับเกษตรกรใน ต.พรหมณี จ.นครนายก โดยใช้สารปรับปรุงดินอัลตรากรีน ซึ่งเป็นสารธรรมชาติ ทดแทนการใช้ปูนมาร์ล หรือไดโลไมต์ เพราะใช้ได้สะดวกกว่า การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 1,700 ไร่ ได้รับการสนับสนุนสารอัลตรากรีนจากมูลนิธิอุษรินทร์ จำนวน 15,000 ลิตร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นอกจากปรับปรุงดินแล้ว ได้ทำโครงการ Smart Farm โดยได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ในการทำงาน เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน พัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิต จัดการความรู้นวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ประกอบด้วยโครงการย่อย ดังนี้ มะยงชิดโมเดล เป็นต้นแบบการพัฒนามะยงชิด ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญประจำ จ.นครนายก ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นการสร้างต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตผลทางการเกษตร

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางชีวภาพ คือ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางชีวภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ระบบจัดการความรู้ด้านการเกษตร เป็นการจัดการความรู้ที่เป็นระบบ สามารถให้ศูนย์เรียนรู้ย่อย ชุมชนหรือประชาชนในภาคเกษตร สามารถรวบรวม เข้าถึงข้อมูล เรียนรู้ และนำไปถ่ายทอดในการปฏิบัติจริงได้ง่าย หรือนำไปต่อยอดความรู้ใช้ลงมือปฏิบัติจริงต่อไป

สร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรม ประสานกับชลประทานจังหวัดนครนายก สำนักงานชลประทานที่ 9 สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ใกล้กับวัดเขาคอก ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา จ.นครนายก เพื่อเป็นแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค ให้กับประชาชนในพื้นที่

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ยังได้ฝึกอบรมวิชาเกษตรเบื้องต้น ณ โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก ซึ่งเป็นพันธกิจอย่างหนึ่งของกองทัพบกในการช่วยเหลือประชาชน โดยมุ่งหมายให้นักเรียนนายร้อยนำองค์ความรู้ไปขยายผล ในการช่วยเหลือประชาชน หลังสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตร

การจัดอบรมเป็นการให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ การปศุสัตว์เบื้องต้น, การผลิตปุ๋ยอินทรีย์, การปลูกพืช, การปลูกข้าวอินทรีย์, การปลูกพืชในโรงเรือนกางมุ้ง และการปลูกพืชไร้ดิน, ระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น โครงการอื่น ๆ มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในอนาคตจะร่วมมือกันถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้แก่นักเรียนนายร้อย เพื่อให้นำไปขยายผลหลังจากสำเร็จการศึกษา

มีการฝึกงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ในชุมชนเกษตรพอเพียง ตามแนวคิดเกษตรพอเพียง เพื่อให้นักเรียนนายร้อยได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นจริงของประชาชน และฝึกงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ในชุมชนเกษตรพอเพียง โดยจัดนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 3 เข้าพักในบ้านของประชาชนในหมู่บ้านที่ดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่างการดำรงชีวิตที่มั่นคง และเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และยังเป็นเวทีในการทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่การทำกิจกรรมในโครงการดังกล่าว เป็นประสบการณ์ที่สำคัญต่อนักเรียนนายร้อย ที่ได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ จริงของเกษตรกร เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติให้มีมุมมองที่แตกต่างและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดให้กับกำลังพลของหน่วยทหารและประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงานต่อไป

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ