ช้างติดปีก “โดรน” เปิดตลาดบริการ เกษตร-โลจิสติกส์

“เจ้าสัวเจริญ” โดดลุย “โดรน”ธุรกิจเครื่องบินอากาศยานไร้คนขับ ใช้ “ทีซีซี เทคโนโลยี”ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีธุรกิจในเครือเป็นหัวหอก แง้มแผนลงทุนจากธุรกิจการเกษตร-โลจิสติกส์มุ่งบินโดรนเข้าสู่ธุรกิจบริการ

นายอรุณวิชย์ วัฒนาพัฒน์กิตติ community creator สำนักงานดรีมออฟฟิศจาก C ASEAN ในเครือไทยเบฟกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้จะมีการเปิดตัว โครงการ DATA THON 2 “Drone as a Service”ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (drone) สู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยบริษัท ทีซีซี เทคโนโลยี จำกัด ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่าย อาทิ C ASEAN (บริษัท ซี เอ ซี)-เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ก)-สำนักงานพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ และยังมีพันธมิตรจากกลุ่มสมาชิกประเทศอาเซียน เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์จาก สปป.ลาว เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ภายในงานครั้งนี้จะมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ Moving Forward with Drone หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม จะมีการจัดกิจกรรมแคมป์สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป รวม 8 กลุ่ม (40 คน) ขึ้นที่ C ASEAN เพื่อฝึกอบรมและเข้าร่วมการทดสอบการใช้ “ระบบคราวน์” เชื่อมต่อกับ “โดรน” เพื่อประมวลผลข้อมูลและจะมีการประกวดชิ้นงาน โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสดสูงสุด 100,000 บาทด้วย

ด้านนางสาวนันทัชพร จิระวิชชาสกุล community creator ผู้รับผิดชอบโครงการ DATA THON 1 ระบุว่า โครงการนี้จะเป็นการเปลี่ยนโจทย์จากเดิม โดยดาต้าตรอน เฟส 1 จะเน้นเรื่องเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหาร แต่ที่ปรับโจทย์มาเป็น “โดรน” ก็เพื่อต่อยอดสู่การบริการ เพราะปัจจุบันตลาดโดรนในไทยปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวเป็นมูลค่า 800-1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้านบาทในปี 2561 แต่ผู้ประกอบการไทยนิยมใช้เทคโนโลยีนี้ไปเพื่อการถ่ายภาพ คิดเป็นสัดส่วน 40% และอีก 30% ใช้เพื่องานอดิเรก “ทางทีซีซีฯมองว่าเทคโนโลยีโดรนสามารถต่อยอดไปใช้ด้านอื่น ๆ ได้อีกมาก” น.ส.นันทัชพรกล่าว

 

เบื้องหลังคือ ไทยเบฟ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบพบว่า บริษัททีซีซี เทคโนโลยี เป็นบริษัทลูกของกลุ่มไทยเบฟ ทำธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล (data center) และระบบคราวน์ ก่อตั้งขึ้นมานับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2544 มีทุนจดทะเบียน 430 ล้านบาท เพื่อให้บริการข้อมูลสารสนเทศ บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศ โดยมีกรรมการประกอบด้วย นายชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท หรือ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล หรือนายปณต สิริวัฒนภักดี หรือนายโฆษิต สุขสิงห์ หรือนางนิดดา ธีระวัฒนชัย หรือนายวรดิษฐ์ วิญญรัตน์ ซึ่งถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญของบริษัทนี้ ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้ประกอบไปด้วย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และบริษัททีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) ถือหุ้น 49%

ส่วน C ASEAN จดทะเบียนในนามบริษัท ซี เอ ซี จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 เป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบธุรกิจเพื่อบริการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจซึ่งมิได้มีการจัดประเภทไว้ในที่อื่น การบริการที่สนับสนุนการศึกษา โดยมีนายวิเชฐ ตันติวานิช และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ส่วนรายชื่อกรรมการทั้งหมดประกอบด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี, นายพลภัทร สุวรรณศร, นายวิเชฐ ตันติวานิช, นายโฆษิต สุขสิงห์, นายเอกพล ณ สงขลา และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.99% คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รองลงมาคือ บริษัท ทศภาค จำกัด ถือหุ้น 0.0003% และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถือหุ้น 0.0003%

 

ตลาดโลก 4.54 ล้านล้านบาท

สำหรับมูลค่าตลาดโดรนนั้น บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (PwC Consulting) ได้ประเมินมูลค่าว่า ในปี 2563 มูลค่าตลาดโดรนทั่วโลกจะอยู่ที่ 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.54 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,000 ล้านเหรียญหรือประมาณ 72,000 ล้านบาท พร้อมระบุ “โดรน” จะมีอิทธิพลต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้และมีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถรายงานผลกลับได้อย่าง “เรียลไทม์” มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนต่ำ

ทั้งนี้ 3 อุตสาหกรรมหลักที่โดรนจะเข้ามามีบทบาทสูง ได้แก่ 1)อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงที่สุดถึง 45,200 ล้านเหรียญ หรือราว 1.62 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 โดยจะใช้โดรนเพื่อสำรวจพื้นที่เพื่อข้อมูลเชิงลึกสำหรับการตัดสินใจลงทุน ซ่อมบำรุง หรือแม้แต่สำรวจสินค้าคงคลัง 2)อุตสาหกรรมการเกษตร (agriculture) คาดว่าในปี 2563 จะมีมูลค่าตลาดโดรน 32,400 ล้านเหรียญ หรือ 1.16 ล้านล้านบาท โดยจะใช้เพื่อสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลทำแผนที่ 3 มิติ วิเคราะห์ดินและหว่านเมล็ด และ 3)อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (transport) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 13,000 ล้านเหรียญ หรือ 465,000 ล้านบาท โดยใช้ขนส่งสินค้าให้เข้าถึงพื้นที่ได้คล่องตัวขึ้นและต้นทุนต่ำ

ส่วนการกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดูในการจัดระเบียบเพื่อความปลอดภัยที่จะทำให้ตลาดโดรนในเมืองไทยขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

และล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติ (11 ต.ค. 2560) ให้ผู้ครอบครอง “โดรน” ต้องขึ้นทะเบียนกับ กสทช.ก่อนใช้งาน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ตั้งแต่มีการประกาศให้ขึ้นทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.จนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 มีผู้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน กสทช.แล้ว 4,703 ลำ แบ่งเป็นขึ้นทะเบียน ณ ส่วนกลาง 1,980 ลำ ส่วนภูมิภาคขึ้นทะเบียน 2,723 ลำ แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมข้อมูลผู้ที่ไปขึ้นทะเบียนกับสถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งกลับมาที่ กสทช.อยู่” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าว (หน้า 1, 13)

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์