“ถ้าท่านให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน สอนเขาจับปลา…. เขามีกินตลอดชีวิต” (สุภาษิตจีน)

ทุนนิยมในยุคนี้จำเป็นต้องมี “หัวใจ”  ถ้าหากต้องการที่จะอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ยาวนาน และยั่งยืน

แต่การมี “หัวใจ” นั้น คงไม่ได้หมายเพียงแค่การทำ ซีเอสอาร์ หรือการบริจาคข้าวของ เงินทอง  เพราะหากจะทำอะไรให้ยั่งยืน สิ่งที่ทำนั้นจะต้องยึดหลักตามสุภาษิตที่ได้ยกมาข้างบน  คือไม่ได้ให้เปล่าในแบบที่ผู้รับจะต้องรอเป็นผู้รับอยู่ตลอดไป  เพราะ”ปลา” หนึ่งตัวอาจจะช่วยประทังหิวไปได้เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว

แต่หากเป็นการให้ความรู้ หรือสอน “วิธีการตกปลา” ผู้รับก็จะไม่ต้องมาแบมือรอขอปลา แต่สามารถลุกออกไปจับปลาด้วยตัวเอง และจะไม่มีวันหิวอีกต่อไป

หนึ่งในนักธุรกิจไทยที่มองภาพนี้ออกได้อย่างเฉียบขาดและแหลมคมคือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าของทฤษฎี “สามประโยชน์”

ธนินท์กล่าวว่า “สามประโยชน์” ในความหมายของเขาคือ การทำกิจการได้ก็ตาม จะต้องเกิดประโยชน์ต่อทั้งสามฝ่าย ได้แก่ ประเทศ และประชาชนของประเทศนั้นๆก่อน แล้วประโยชน์ของบริษัทจึงตามมาทีหลัง

โครงการเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัวที่ เมืองผิงกู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ โครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ยึดอยู่บนหลักสามประโยชน์  โดยซีพีเป็นผู้นำเอาโนว์ฮาวการบริหาร จัดการ และเทคโนโลยีเข้าไปให้ พร้อมกับการเข้าไปรับความเสี่ยงแทนเกษตรกร ผู้ที่จะได้มีงานทำ รับรายได้ประจำสม่ำเสมอ รวมทั้งเงินปันผลจากกิจการนี้  ซึ่งซีพีเป็นผู้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้ทั้งหมดตกเป็นเงินประมาณปีละ 375 ล้านบาทให้แก่เกษตร ซึ่งยังสามารถทำมาหารายได้จากการงานอื่นๆตามความถนัดของแต่ละบุคคล

จากงบโครงการลงทุนทั้งหมด  750 ล้านหยวน (ประมาณ 3,750 ล้านบาท)  ที่เอาไปใช้ในการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงแปรรูปไข่ และโรงงานผลิตปุ๋ยจากขี้ไก่  ซึ่งยังถูกนำเอาไปใช้ในสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ไก่ที่มีอายุมากและไม่สามารถออกไข่ได้อีก จะถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหาร และส่งชิ้นส่วนที่เหลือไปเป็นอาหารจระเข้ ซึ่งฟาร์มจระเข้นี้สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับโครงการอีกด้วย

Advertisement

เรียกว่าครบวงจรและยั่งยืนตั้งแต่วงจรการผลิต เพราะใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งอย่างหมดจด ไม่ให้มีเหลือทิ้งให้เป็นความสิ้นเปลืองหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน

โดยผลผลิตหลักคือไข่ไก่จำนวน 2.4 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งซีพีเป็นผู้รับผิดชอบขายให้ทั้งหมด

Advertisement

จุดที่น่าสนใจคือโมเดลการลงทุนที่ยึดหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโครงการนี้ ที่ธนาคารเป็นผู้ให้กู้ 70%  ของงบประมาณการลงทุนทั้งหมด และในส่วนที่เหลือ 30% ที่เป็นส่วนทุนที่ทางซีพีและรัฐบาลจีนเข้ามาช่วยรับภาระฝ่ายละเท่าๆกัน  โดยเกษตรกรจะนำค่าเช่าที่ได้รับมาจ่ายคืนเงินต้นให้กับธนาคาร  และรัฐบาลจ่ายค่าดอกเบี้ยให้แทนเกษตร ซึ่งเงินในส่วนนี้รัฐไม่ต้องไปหามาเพิ่มจากที่ไหน  เพราะที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวยากจนครอบครัวละ 200  หยวนต่อเดือนอยู่แล้ว ซึ่งด้วยโครงการนี้แทนที่ภาครัฐจะเอาเงินไปให้เปล่าๆ ก็เอามาใส่ลงในโครงการนี้แทน ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปี เกษตรกรในเขตผิงกู่ก็จะสามารถจ่ายคืนเงินต้นได้ทั้งหมด และเข้ามาเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด  ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจจากซีพีและสานต่อกิจการนี้ต่อไปได้

จากผลสำเร็จของโครงการนี้ทำให้หลายๆมณฑลในจีนแสดงความสนใจอยากให้ซีพีเข้าไปโครงการในรูปแบบเดียวกับเขตผิงกู่   ในขณะที่รัฐบาลจีนก็แฮปปี้ที่ชาวผิงกู่สามารถมีรายได้และยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ โดยไม่ต้องมาพึ่งพาเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่ไม่เกิดความยั่งยืนจากภาครัฐอีกต่อไป

“สามประโยชน์” ของนายธนินท์ จึงได้ความยั่งยืน และ “ได้ใจ” จากทุกๆฝ่าย อย่างนี้เอง

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์