เผยแพร่ |
---|
เมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนบริษัท Einhorn จำกัด บริษัทผลิตถุงยางอนามัยสัญชาติเยอรมัน เข้าหารือกับการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง หวังผลักดันผลผลิตน้ำยางสดของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งตรงถึงมือผู้ใช้ยางโซนยุโรป พร้อมหาแนวทางในการพัฒนาตลาดน้ำยางสดร่วมกัน ณ ตลาดกลางยางพารา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล คณะทำงานโครงการจัดตั้งตลาดกลางน้ำยางสด เผยว่า กยท.ได้ส่งเสริมและขับเคลื่อนให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตน้ำยางสดร่วมกันขายผลผลิต ณ ศูนย์รวบรวมน้ำยางสด ตลาดกลางน้ำยางสดของ กยท. โดยมี กยท.เป็นองค์กรหลักในการดูแลและบริหารจัดการปริมาณ คุณภาพ และการเจรจาต่อรองราคาให้เกิดความเป็นธรรม ขณะนี้ ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปี นับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มาจากผลิตภัณฑ์ยางหลายร้อยล้านบาท ปัจจุบัน ไทยส่งออกถุงยางอนามัยไปต่างประเทศเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศแถบยุโรปก็มีความสนใจและตระหนักถึงการผลิตถุงยางอนามัยที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 % เพื่อรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลาดถุงยางอนามัยในแถบยุโรป จึงมองหาประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบประเภทน้ำยางพาราอินทรีย์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภค
นายศตวรรษ จันทร์ทอง ตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในโครงการตลาดกลางน้ำยางสด กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีโครงการตลาดกลางน้ำยางสด กยท. เข้ามาช่วยเกษตรกร ซึ่งจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ราคายางแผ่น ต่างจากราคาน้ำยางสดมากกว่า 10 บาท แต่หลังจากมีโครงการตลาดกลางน้ำยางสด กยท. ปัจจุบัน ราคายางแผ่นและราคาน้ำยางสดต่างกันไม่ถึง 2 บาท ส่งผลดีต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก การได้เข้าพบกับบริษัทผู้ใช้ยางตัวจริงในวันนี้ ถือเป็นการหารือในเบื้องต้น และเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งมีการยื่นข้อเสนอในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน โดยทางสถาบันเกษตรกรคาดว่าจะได้ส่วนต่างเพิ่มจากราคาปกติ 5 บาท และบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะมีการนัดสรุปผลกันอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆนี้
ด้าน Ms.Katleen Schneider ตัวแทนบริษัท Einhorn เปิดเผยว่า Einhorn เป็นบริษัทผลิตถุงยางอนามัยสัญชาติเยอรมัน มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศมาเลเซีย และจากกระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรป ทำให้บริษัทมองหาแหล่งวัตถุดิบที่เป็นยางพาราอินทรีย์ และเห็นว่าไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับต้นของโลก จึงได้ประสาน กยท. ในการหารือร่วมกับสถาบันเกษตรกรผู้ผลิตยางโดยตรง เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ตรงต่อความต้องการ รวมถึงเป็นการจับมือกันในฐานะประเทศผู้ส่งออกถุงยางอนามัยเช่นเดียวกัน เพื่อพัฒนาตลาด และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างทั่วถึง