“ออมสิน” ปล่อยกู้คนจน-สูงวัยวงเงิน 1 หมื่นล้าน ช่วยสร้างอาชีพจับมือ 20 มหา’ลัย จัดอบรมให้ฟรี “ออมสิน” เตรียมวงเงิน 1 หมื่นล้าน ปล่อยกู้อาชีพคนจน-ผู้สูงวัย พร้อมจับมือ 20 มหาวิทยาลัยเปิดอบรมอาชีพให้ฟรี จับมืออุดมศึกษาอีก 16 แห่ง หนุนพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาทำโครงการสร้างอาชีพผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุ โดยจะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับธนาคารประชาชน 0.75-1% ต่อเดือน เพราะเป็น กลุ่มมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่หากรัฐบาลกำหนดให้เป็นโครงการจากนโยบายรัฐ (พีเอสเอ) อาจจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะกู้เงินต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่ธนาคารกำหนด ขณะนี้ธนาคารมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 20 แห่ง คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มอีก 20 แห่ง รวมเป็น 40 แห่ง โดยมีแผนจัดอบรมตลอดทั้งปีใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งธนาคารจะสนับสนุนค่าวิทยากร และค่าอาหารสำหรับผู้ร่วมอบรม คาดว่าจะสามารถอบรมได้ประมาณ 2-3 หมื่นคน ต่อปี ”ในการฝึกอบรมธนาคารไม่จำกัดเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐที่ธนาคารดูแลอยู่ 3 ล้านคน แต่จะเปิดกว้างสำหรับผู้สนใจทั่วไป โดยอาชีพที่อบรม ต้องดูตามความเหมาะสมของผู้เข้าร่วมอบรม และความเหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น เช่น อบรมเรื่องอาหาร หัตถกรรม สอนภาษาจีนเพื่อต้อนรับทัวร์จีน” นายชาติชาย กล่าวนายชาติชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาออมสินสนับสนุนโครงการตามนโยบาย ล่าสุดมีวงเงินที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท สร้างผลขาดทุนให้ธนาคารปีละกว่า 2,000 ล้านบาท บางโครงการรับการชดเชยจากรัฐบาล บางโครงการไม่ได้รับการชดเชยเป็นตัวเงินแต่ให้นำผลขาดทุนแปลงกลับมาเป็นผลกำไร เพื่อประเมินผลงาน และโบนัสของพนักงาน แต่บางโครงการธนาคารแบกรับผลขาดทุนไว้เองนายชาติชาย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ธนาคารได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2560-2561 ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ทั้งนี้ จะลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การจัดการราคา และความสามารถในการทำกำไร การจัดการการตลาด และการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อป องค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตาร์ตอัพ และอื่นๆ ซึ่งจะมีการนำความรู้มาบูรณาการกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับกระบวนการต่างๆ ที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก จะเข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการสร้างอาชีพตามนโยบายรัฐบาล

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน