“หวัด-แผล-ท้องเสีย” โรคฮิตดื้อยา รัฐเร่งทำความเข้าใจลดยอดตาย

หน่วยงานร่วมปักหมุด “หยุดเชื้อดื้อยา” สสส.เผย “หวัด-เป็นแผล-ท้องเสีย” คือ 3 โรคฮิตที่คนไข้กินยาผิดจนเกิดปัญหา เร่งสื่อสารให้ความรู้ บริโภคอย่างสมเหตุสมผล

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดตัวพันธกิจ “ประเทศไทยปักหมุด…หยุดเชื้อดื้อยา” โดยมีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ องค์กรด้านสุขภาพ ภาคประชาชน และองค์กรระหว่างประเทศ 25 หน่วยงานเข้าร่วม

พล.ร.อ. ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 7 แสนคน หรือนาทีละ 1 คน เฉพาะประเทศไทยเสียชีวิตปีละ 3 หมื่นคน คิดเป็นการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 4.2 หมื่นล้านบาท หากไม่มีการแก้ปัญหา คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2593 ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเพิ่มปีละ 10 ล้านคน หรือนาทีละ 19 คน ในจำนวนนี้เป็นประชากรในทวีปเอเชียมากที่สุด 4.7 ล้านคน ในการประชุมสมัชชาโลกเมื่อปี 2558 กำหนดให้ประเทศสมาชิกจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา ภายใต้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียวทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้วางยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 วันนี้เริ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 จากปัจจุบัน ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนเหลือร้อยละ 20 ลดการใช้ในสัตว์ร้อยละ 30 และทำให้ประชาชนมีความรู้ ตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาของยาต้านจุลชีพร้อยละ 20 และมาตรฐานการแก้ไขปัญหาอยู่ในระดับสากล

ด้าน ทพ. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาของศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา พบว่าพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยที่ส่งผลต่อเชื้อดื้อยา เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นใน 3 โรค คือ หวัด เป็นแผล และท้องเสีย รวมถึงการซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น และหยุดยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดยังพบการกระจายยาในร้านขายของชำที่ขาดความรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ จึงเน้นให้ความรู้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียน เกษตรกร และชุมชน รวมถึงศึกษาข้อมูลการใช้ยาและพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทย โดยร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ ตลอดจนทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการจัดการเชื้อดื้อยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลการใช้ยาอย่างถูกต้อง

พญ. มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มียุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1. เฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของเชื้อดื้อยา 2. เร่งรัดออกประกาศให้ยาต้านจุลชีพบางรายการเป็นยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์และมีระบบควบคุมการกระจายยา 3. จัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างบูรณาการ ทั้งในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน 4. ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ การประมง และการใช้ยาในพืช 5. บูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และ 6. พัฒนาระบบติดตามประเมินผลในภาพรวม

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน