สปสช.จ่าย “ยาดีเฟอร์ราซิร็อก”ดูแลคนไข้ธาลัสซีเมียเริ่ม ปี’61

บอร์ด สปสช.มีมติให้ “ดีเฟอร์ราซิร็อก” ยาขับธาตุเหล็กช่วยผู้ป่วยธาลัสซีเมียกลุ่มที่เกิดอาการข้างเคียงหลังใช้ “ดีเฟอริโพรน” เริ่มปี 2561 ตั้งเป้าดูแลผู้ป่วยในระบบบัตรทอง 15,000 คน

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นพ. ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงประมาณ 600,000 คน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก แต่การให้เลือดอย่างต่อเนื่องมีผลต่อผู้ป่วยทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ตับแข็ง เบาหวาน และหัวใจวาย ฯลฯ ดังนั้น ในกระบวนการรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาขับธาตุเหล็กด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเด็กจะได้รับยาดีเฟอริโพรน (Deferiprone) ซึ่งเป็นยาขับเหล็กชนิดกินโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำหนดให้สิทธิประโยชน์การรักษาโรคเลือดธาลัสซีเมียครอบคลุมยาดีเฟอริโพรน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

“อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมีส่วนหนึ่งที่มีภาวะแพ้ยาดีเฟอริโพรน มีผลข้างเคียงให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ การทำงานของตับผิดปกติ และระดับเอ็นไซม์ในตับเพิ่มขึ้น เมื่อแพทย์ต้องงดให้ยาดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน แต่เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องได้รับยาดีเฟอร์ราซิร็อก (Deferasirox) ซึ่งเป็นนวัตกรรมยาที่มีราคาแพงกว่ามาแทน และต้องกินเป็นประจำทุกวัน ที่ผ่านมาผู้ป่วยธาลัสซีเมียกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการรักษาและทุกข์ทรมานจากภาวะความเจ็บป่วย ในปี 2561 บอร์ด สปสช.จึงจัดสรรงบประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เพื่อจัดหายาดีเฟอร์ราซิร็อกไว้ในสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยธาลัซเมียในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขยายความครอบคลุมการเข้าถึงการให้เลือดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยตั้งเป้าดูแลผู้ป่วยในระบบจำนวน 15,000 คน” นพ. ชูชัย กล่าวรองเลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า จากการดำเนินสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมีย ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2557 มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียในระบบ จำนวน 4,532 ราย ปี 2558 เพิ่มเป็น 9,835 ราย และในปี 2560 เพิ่มเป็นจำนวน 11,439 คน และการขยายการเข้าถึงยาดีเฟอร์ราซิร็อกและการให้เลือดกับผู้ป่วย ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในปี 2561 จะช่วยให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อภาระค่ารักษาพยาบาลที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษา โดยในผู้ป่วยเด็ก 1 ราย จะมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 10,500 บาท ต่อเดือน หากรวมตลอดอายุของเด็กจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 6.6 ล้านบาท ต่อคน

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน