ชี้คนไทยมีแนวโน้มป่วยโรค ‘หมกมุ่นรูปลักษณ์’

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรคที่น่าห่วง คือโรคบีดีดี (Body Dysmorphic Disorder: BDD) หรือโรคคิดหมกมุ่นในรูปลักษณ์ของตนเองมากเกินไป หรือไม่สามารถยอมรับรูปลักษณ์ของตนเองจนเกิดความทุกข์ เครียด วิตกกังวลอย่างซ้ำซาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉลี่ยพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ร้อยละ 1.7 ในผู้หญิงพบ ร้อยละ 1.9 ผู้ชาย ร้อยละ 1.4 “ทางจิตวิทยาเชื่อว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากค่านิยมความงาม และความเชื่อทางสังคม จึงพยายามทำทุกทางเพื่อให้เป็นอย่างที่หวัง ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และอาจทำให้อัตราการป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น คือมีการโฆษณาตามสื่อต่างๆ จำนวนมาก จนเป็นตัวกระตุ้นอยากจะให้ตัวเองดูดี หรือที่นิยมพูดกันว่า ปัง เป๊ะ เว่อร์ เหมือนกับพรีเซ็นเตอร์ ผู้ที่น่าห่วงที่สุด คือผู้ที่ทำแล้วผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง ยิ่งก่อให้เกิดความกังวล เครียดจากการคิดหมกมุ่น มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ลงท้ายด้วยการมีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว หลีกหนีสังคม โดยร้อยละ 70 มีภาวะเครียดรุนแรง และพบร้อยละ 20 มีการทำร้ายตัวเองในที่สุด” น.ต.นพ. บุญเรือง กล่าว นพ. ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปี ผลการวิจัยในแถบยุโรป อเมริกา ประชาชนทั่วโลกมีความคิดหมกมุ่นกังวลเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยเฉลี่ย ร้อยละ 34 ในผู้หญิงพบได้ ร้อยละ 41 ผู้ชายพบ ร้อยละ 27 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มผู้ชายพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จะพบมากในกลุ่มคนโสดอายุ 15-30 ปี ในส่วนของประเทศไทยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าสถิติไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ส่วนของร่างกายที่มีการคิดหมกมุ่นมาก อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหาเส้นผม เช่น ผมบาง/หนาเกินไป รองลงมา คือปัญหาเกี่ยวกับจมูก เช่น จมูกไม่โด่ง จมูกเบี้ยว และปัญหาสุขภาพผิว เช่น สิว ปาน ไฝ การสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคบีดีดีหรือไม่ ให้พิจารณาว่ามีความกังวลข้อใดข้อหนึ่ง เช่น 1. กังวลว่าคนอื่นจะเห็นความผิดปกติของตัวเอง 2. พยายามปกปิดส่วนนั้นของร่างกายไว้ 3. ส่องกระจกตรวจสอบความผิดปกติบ่อยครั้ง 4. หลีกเลี่ยงการส่องกระจกหรือเงาสะท้อน 5.พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขความผิดปกติ หากพบแสดงว่าเริ่มเป็น และแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน