สงสัยพบ ‘แอนแทรกซ์’ ในจังหวัดตาก สธ.ส่งทีมลงพื้นที่สอบสวนโรค

กรมควบคุมโรคสงสัยเชื้อ “แอนแทรกซ์” ระบาดในพื้นที่จังหวัดตาก ส่งเจ้าหน้าที่ลงสอบสวนโรค หลังได้ข้อมูลชาวบ้านชำแหละแพะจากประเทศเพื่อนบ้าน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 25 คน ถึง 5 ธันวาฯ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีรายงานข่าวพบผู้ป่วย 3 ราย สงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ในพื้นที่ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้ส่งเจ้าหน้าลงสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก พบว่าชาวบ้านได้นำแพะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และได้ชำแหละแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านเพื่อปรุงอาหาร หลังจากนั้นเริ่มมีตุ่มเนื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนัง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นสงสัยโรคแอนแทรกซ์

นพ. สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) เข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว

โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อ ในประเทศไทยพบการติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย และผลิตภัณฑ์สัตว์ และติดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยแล้วไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง

ด้าน น.สพ.ธีรศักดิ์ ชักนำ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า จากการสอบสวนโรค มี 1 ราย ไม่ได้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ แต่อีก 2 ราย มีแผลเป็นตุ่ม นูนแดง ข้างในเป็นสีดำ จับแล้วไม่เจ็บ ซึ่งเข้าได้กับอาการของ 2 โรค คือ 1. โรคแอนแทรกซ์ หรือ 2. โรคสครับไทฟัส ขณะนี้นำผู้ป่วย 2 ราย เข้าห้องแยกโรค และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากการสอบสวนโรคพบว่า รายแรกได้นำแพะจากประเทศพม่าเข้ามาชำแหละ และส่งเนื้อแพะกลับประเทศ จากนั้นเจ้าตัวก็เกิดบาดแผลในลักษณะดังกล่าว เดิมเข้ารักษาที่คลินิกแห่งหนึ่งแต่ไม่หาย จึงไปรักษาที่ รพ.แม่สอด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งแพทย์สงสัยติดเชื้อแอนแทรกซ์ จึงส่งตัวเข้าห้องแยกโรค และร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขอำเภอลงไปค้นหากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ และพบผู้ป่วยรายที่ 2 มีอาการคล้ายกัน และมีประวัติชำแหละแพะที่เอามาจากพม่าถึง 6 ตัว และแจกจ่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังทั้งตำบล ขณะนี้มีผู้ที่เสี่ยง 25 คน จะพ้นระยะเฝ้าระวังในวันที่ 5 ธันวาคมนี้

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน