เผยแพร่ |
---|
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรได้มีการจัดเวทีแนวทางการจัดทำระบบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมของไทย (Thai PGS) เพื่อทำความเข้าใจสร้างกลไก กระบวนการในการขับเคลื่อนการรับรองเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรรวมกันเป็นเครือข่าย ติดตามตรวจสอบซึ่งกันและกันเอง โดยสภาเกษตรกรฯเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนกำกับให้ข้อมูล ความรู้ทางวิชาการ ระบบนี้จะทำให้เกษตรกรทั้งองค์กรยกระดับการผลิตตัวเองขึ้นมา และมีการช่วยกันดูแล สอดส่องสมาชิกในองค์กรของตนเอง ทำการผลิตการเกษตรให้อยู่ในมาตรฐานที่ตรงกัน หากเกษตรกรรายใดไม่ทำตามมาตรฐานที่ตกลงกันไว้ก็จะถูกตำหนิหรือแม้กระทั่งถูกไล่ออกจากกลุ่มได้ โดยคาดหวังว่าระบบเกษตรอินทรีย์ Thai PGS นี้จะสามารถเป็นระบบหลักอีกหนึ่งระบบในประเทศควบคู่กับระบบเกษตรอินทรีย์ของราชการและมกอช.
ด้านนายธีระ วงษ์เจริญ ประธานคณะกรรมการด้านเกษตรตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ PGS เป็นการรับรองโดยชุมชนทำหน้าที่รับรองกันเอง กำหนดกฎ กติกาของตัวเองไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐานอื่นที่มีอยู่ทั้ง IFOAM หรือ USDA ซึ่งระบบ PGS มีการเชื่อมโยงในผลผลิตการเกษตร ตรวจสอบกันทุกวัน ด้วยชุมชนเป็นสังคมระบบเครือญาติ สังคมระบบอุปถัมภ์จะเห็นกันหมด ใครใช้สารเคมีมาตรการทางสังคมจะเข้ามาตรวจสอบ เพราะฉะนั้นความผิดพลาดจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก แล้วเชื่อว่า PGS จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งให้นักเกษตรอินทรีย์ได้ ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมากและมอบหมายให้คณะกรรมการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการฯได้จัดการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง เพื่อที่จะสร้างการรับรองใหม่ขึ้นมาคือ Thai PGS ให้เป็นมาตรฐานของไทย การเชื่อมโยงในธุรกิจของ PGS จะเป็นระหว่างพื้นที่ต่อพื้นที่ซึ่งในขณะนี้ PGS จันทบุรี , สามพราน , อุบลราชธานีโมเดลสามารถเชื่อมโยงกันแล้ว เป้าหมายต่อไป จ.อำนาจเจริญ รวมทั้งอีกหลายจังหวัดโดยมีสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุนการดำเนินการ การให้ความรู้ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้ยึดถือและนำมาปฏิบัติต่อในปีงบประมาณ 2561 และจะขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมครบ 77 จังหวัดในอนาคต เกษตรกรที่สนใจทำการเกษตรอินทรีย์หรือต้องการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วแต่ยังไม่มีการรับรองมาตรฐานเพราะอยู่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขอให้ประสานสภาเกษตรกรฯซึ่งมีหน่วยงานลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบดูแลเพื่อที่จะพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ขยายกว้างไกลตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ต้องการพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล