เผยแพร่ |
---|
สืบเนื่องจากพบผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) 3 ราย ที่ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก หลังชำแหละและรับประทานเนื้อแพะที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนมา
โดยพบว่าผู้ป่วยมีลักษณะของแผลเป็นตุ่ม นูนแดง ข้างในเป็นสีดำ จับแล้วไม่เจ็บ ซึ่งเข้าได้กับอาการของ 2 โรค คือ 1.เป็นโรคแอนแทรกซ์ หรือ 2.เป็นโรคสครับไทฟัส ซึ่งเก็บเชื้อตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดนั้น
สภาพบาดแผลของผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงผลการตรวจสอบหาเชื้อของ 2 ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อแอนแทรกซ์ หลังมีการชำแหละแพะที่ลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ป่วยเป็นชาว ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้ ผลพบว่า 1 รายมีผลเป็นบวก ติดเชื้อแอนแทรกซ์ แต่อีกรายยังรอคอนเฟิร์ม ส่วนรายละเอียดนั้นขอดูข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง
จากข้อมูล กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่า โรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล
แอนแทรกซ์เป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง, เก้ง, กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค, กระบือ, แพะ, แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ, สุนัข, แมว, สุกร
โรคมักเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกลๆได้
เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน คือ ที่ผิวหนัง, ที่ปอดจากการสูดดม, ที่ทางเดินอาหาร และ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacillus anthracis เป็นเชื้อ aerobic, non-motile, spore-forming rod (1-1.25 ? 3-5 nm) จัดอยู่ในตระกูล Bacillaceae เมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยมาย้อมสีแกรมจะพบ square-ended gram-positive rods ขนาดใหญ่อยู่เดี่ยวๆ หรือต่อกันเป็น short chains เมื่ออยู่ในที่แห้งและภาวะอากาศไม่เหมาะสมจะสร้างสปอร์หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานมากทั้งความร้อนความเย็น และยาฆ่าเชื้ออยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบๆปี
วิธีการติดต่อในคน ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย บุคคลที่เป็นโรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม
นอกจากนี้ได้แก่ คนชำแหละเนื้อ, สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย
โรคติดมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง หรืออาจเป็นเพราะความยากจนเมื่อสัตว์ตายจึงชำแหละเนื้อมาบริโภค
อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา
แอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล
แอนแทรกซ์ทางเดินหายใจเกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย
ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารและออโรฟาริง มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ส่วนมากสัตว์จะติดโรคจากการกินและหายใจโดยได้รับสปอร์ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ตายด้วยโรคนี้มาก่อน
ในช่วงต้นๆของการระบาดของโรค(ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน) สัตว์จะติดโรคจากการกินและจากการหายใจพร้อมๆกัน โดยเกิดจากขณะที่สัตว์แทะเล็มกินหญ้าก็จะดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วย สปอร์ของแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าและในดินก็จะเข้าทางปากและฝุ่นที่ปลิวฟุ้ง ขณะดึงหญ้าสปอร์ก็จะเข้าทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป
อาการในคนพบได้ 3 ลักษณะ คือ แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (cutaneous anthrax) จะเริ่มเกิดเป็นตุ่มแดงๆตรงที่รับเชื้อ ส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ, แขน, ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์
ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (black escalate) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ในเวลาเดียวกันถ้ายังไม่ได้รับการรักษาจะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บางครั้งรอบๆแผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง
ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ(toxin) ของตัวเชื้อ
อัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก อยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 เท่านั้น
แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้
ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60
แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ (pulmonary anthrax) โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรกๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ
อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยระบบนี้จะสูงมากถึงร้อยละ 80-90
สถานการณ์โรคก่อนระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยในทุกภาคของประเทศ ส่วนมากติดโรคจากโค, กระบือ ยกเว้นมีบางครั้งที่ติดต่อจากแพะที่ปัตตานี และติดต่อจากแกะที่ลพบุรี ในระยะ 10 ปีเศษๆที่ผ่านมาไม่พบโรคนี้ในภาคใต้ แต่ยังคงพบโรคนี้ในภาคกลาง เช่น เพชรบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี
ภาคเหนือที่ตาก, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, สุโขทัย, นครสวรรค์, อุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุดรธานี, ขอนแก่น, นครพนม, หนองคาย, อุบลราชธานี เป็นต้น
ส่วนมากพบผู้ป่วยตามจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการลักลอบนำโคกระบือติดโรคที่ยังมีชีวิตเข้ามาชำแหละเนื้อไปจำหน่าย หรือนำเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เข้ามาจำหน่ายในราคาถูกๆ
มาตรการป้องกัน เมื่อพบว่ามีสัตว์ตายโดยกะทันหันและไม่ทราบสาเหตุการตาย ถ้ามีเลือดเป็นสีดำคล้ำไม่แข็งตัวไหลออกตามทวารต่างๆ ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย
หลายประเทศมีกฎหมายห้ามการผ่าซาก เนื่องจากเมื่อผ่าออก เชื้อ vegetative form ในร่างกายสัตว์จะได้รับออกซิเจนจากอากาศ ทำให้มีการสร้างสปอร์ซึ่งมีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่ผ่าซากเชื้อที่อยู่ภายในซากจะตายจนหมดหลังสัตว์ตาย 2-3 วัน โดยกระบวนการเน่าสลายตามธรรมชาติ
ให้ขุดหลุมฝัง ลึกต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2-3 ซ.ม. แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติ และควรเลือกฝังในบริเวณที่ใกล้ที่สุดกับที่สัตว์ตาย ให้มีการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้น้อยที่สุด
อาจเผาซากให้ไหม้มากที่สุด แล้วจึงขุดหลุมฝังกลบอีกชั้นหนึ่งก็ได้
การสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของโรคนี้ จะสามารถลดอัตราป่วยตายของโรค และลดการระบาดของโรคได้ด้วย
การป้องกันโรคนี้จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปศุสัตว์ เพราะมีวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในสัตว์ได้ โดยปกติจะทำวัคซีนในโค, กระบือ และสุกร ปีละ 2 ครั้ง ในท้องที่ซึ่งมีการระบาดของโรคนี้
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์