บริโภคผัก- ผลไม้ 5 สี ดีต่อสุขภาพ

“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ หากใครอยากมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว  ไม่เจ็บป่วยง่าย  ขอแนะนำให้บริโภค สุดยอดอาหารสำหรับคุณ.คือ  “ผัก -ผลไม้ 5 สี” เพื่อให้ได้รับวิตามินแร่ธาตุสำคัญ ที่จำเป็นต่อร่างกาย

นักโภชนาการ ได้ทำการวิจัยพืช ผักต่างๆ ไว้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง โดยแบ่งตามสีของผัก ผลไม้ ได้ 5 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย สีแดง สีส้มหรือเหลือง สีเขียว สีม่วง และสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน การบริโภคพืชผัก 5 สีนี้ ในต่างประเทศมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังมาแล้วหลายปี ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ได้ผลักดันเข้าไปในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยของเราก็เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้นตามลำดับ จากผลการวิจัยสีแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกันไปดังนี้

สีแดง เกิดจากเม็ดสีไลโคพีน ที่มี แอนโทไซยานิน ซึ่งมีบทบาทในการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และชะลอการเสื่อมของเซลล์ร่างกาย ลดอัตราเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ที่สำคัญช่วยบำรุงสายตาได้ดีอีกด้วย ไลโคพีนพบมากในมะเขือเทศ พริกแดง ทับทิม สตรอเบอรี่ ปัจจุบันวิจัยพบว่า สารชนิดนี้มีสูงมากในเปลือกหุ้มเมล็ดของฟักข้าว คนเวียดนามนิยมบริโภคกันมาเป็นเวลาช้านาน

สีส้มหรือสีเหลือง เกิดจากเม็ดสีในกลุ่มของ คาโรทีนอยด์ เช่น สารเบต้าแคโรทีน ฟลาโวนอยด์ วิตามินเอ และวิตามินซี สารสำคัญเหล่านี้มีมากในฟักทอง แครอต มะละกอ มะม่วงสุก และส้ม โดยมีคุณสมบัติในการรักษาสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงจากการเป็นต้อกระจก และช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

สีเขียว ได้จากใบพืชผักต่างๆ เรียกว่า คลอโรฟิลล์ มีสารสำคัญคือ ลูทีน อินโดล และโฟเลท ลูทีนพบมากในผักคะน้า ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม แตงกวา ถั่วแขก ถั่วลันเตา อะโวกาโด และมัสตาร์ด นอกจากนี้ ลูทีนยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันศูนย์จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ อินโดล พบมากในบร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และผักในตระกูลกะหล่ำอื่นๆ ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับให้สร้างเอ็นไซม์ในการต้านมะเร็ง และช่วยจำกัดฮอร์โมนเอสโตเจนส่วนเกินออกจากร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็งที่มดลูกและที่เต้านม ส่วนโฟเลท มีมากในผักโขม ตำลึง และใบยอ สารโฟเลทช่วยลดความเสี่ยงของความบกพร่องของหัวใจมาแต่กำเนิด นอกจากนี้ ในผักและผลไม้สีเขียวยังอุดมไปด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม และซีลีเนียม ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น

 สีน้ำเงินหรือสีม่วง เกิดจากเม็ดสีแอนโทไซยานิน ช่วยขยายหลอดเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและการเป็นอัมพาต พบมากในมะเขือม่วง กะหล่ำปลีม่วง หอมแดง หอมหัวใหญ่ เผือก ดอกอัญชัน ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แดง ลูกหว้า ลูกไหน ลูกพรุน ลูกเกด บลูเบอร์รี่ และเชอร์รี่ เป็นต้น และ

สีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน เกิดจากเม็ดสี แอนโทไซยานิน แอนโทแซนทินส์ ซึ่งประกอบด้วย อัลลิซิน ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิตและโรคหัวใจ ซึ่งมีมากใน กระเทียม หัวหอม กุยช่าย เซเลอลี่ เห็ด กล้วย และมันฝรั่ง และฟลาโวนอยด์ ช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง สารแซนโทน ได้จากเปลือกมังคุด มีบทบาทในการลดการอักเสบ ลดอาการปวดเข่า และรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้อยู่ในสภาพที่ดี สาร 6-จิงเจอรอล พบมากในขิง มีบทบาทในการต้านการอักเสบ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และสารกาลานอล เอและบี พบมากในหัวข่า มีฤทธิ์ในการทำลายมะเร็งเม็ดเลือดขาว และต้านการหลั่งฮิสตามีน ทำให้ช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้

นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อีกหลายชนิด เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร และผลไม้อื่นๆ ที่ใช้ทำแยมได้นั้น จะมีสารเพคตินอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ มีความสามารถในการจับและปลดปล่อยโมเลกุลของน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ มีผลทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดคงที่ จึงช่วยลดความอยากกินอาหารลงได้

มักมีคำถามอยู่เสมอว่า ควรบริโภคผักและผลไม้ 5 สี ในปริมาณวันละเท่าใด คำตอบคือ ต้องบริโภคให้ได้วันละ 400 กรัม ขึ้นไป จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ และปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ….คุณล่ะเริ่มแล้วหรือยัง