แมงกินฟันมีจริงหรือ

ระยะนี้มีคลิปที่ส่งต่อมาในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาอาการปวดฟันโดยการรมด้วยสมุนไพรทางหู จากนั้นพบว่ามีหนอนออกมาโดยในคลิปอ้างว่าเป็นแมงกินฟัน ไม่ว่าหนอนที่ปรากฏในคลิปจะมาจากที่ใดก็ตาม หนอนนั้นไม่ใช่แมงกินฟันแน่นอน ตามลักษณะกายวิภาคแล้ว หูไม่มีทางติดต่อกับช่องปากโดยตรง จะมีก็เพียงท่อเล็กๆ ติดต่อระหว่างหูส่วนกลางกับคอหอยทางท่อยูสเตเชียนเท่านั้น ซึ่งท่อนี้หากอุดตันจะทำให้ความสามารถในการปรับความดันในหูเสียไป เช่น ขณะเป็นหวัดทำให้บางครั้งเรารู้สึกหูอื้อ และถ้าหากมีหนอน หรือแมงกินฟันจริงคงต้องหลุดมาอยู่ในน้ำลายมากกว่า แต่คงไม่มีใครเคยพบหนอนในน้ำลายแน่นอน แล้วที่แท้ฟันผุเกิดจากอะไร

ฟันประกอบด้วย เนื้อเยื่ออนินทรีย์หลายชนิดที่มีองค์ประกอบของสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน สัดส่วนของสารอนินทรีย์มีผลต่อความแข็งของเนื้อเยื่อ เช่น เคลือบฟันมีองค์ประกอบเป็นสารอนินทรีย์ถึงร้อยละ 95 จึงแข็งแต่เปราะกว่าเนื้อฟันที่สารอนินทรีย์เพียงร้อยละ 70 โดยปกติเนื้อเยื่ออนินทรีย์ในร่างกายทุกชนิดจะมีการสร้างและสลายแร่ธาตุอยู่ตลอดเวลาในภาวะที่สมดุลกัน ซึ่งในกระบวนการเกิดฟันผุ เกิดการสลายแร่ธาตุมากกว่าการสร้าง จึงทำให้ฟันที่เคยแข็งนิ่มลง หากความสมดุลที่เสียไปนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน แบคทีเรียในช่องปากจะสามารถลุกลามเข้าไปถึงโพรงประสาท ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ปวดฟัน จนกระทั่งเป็นหนองที่ปลายรากฟันได้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค

การสลายแร่ธาตุในฟันไม่ได้เกิดจากแมงกินฟันแต่อย่างใด แต่เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากย่อยสลายน้ำตาลบนแผ่นคราบจุลินทรีย์ทำให้เกิดกรด ซึ่งกรดนี้เป็นตัวการหลักในการทำให้เกิดการสลายเนื้อเยื่ออนินทรีย์ แล้วแบคทีเรียที่มีมากมายในช่องปาก สายพันธุ์ไหนเล่าที่ทำให้เกิดฟันผุได้ เท่าที่ศึกษามาถึงขณะนี้ เชื่อว่าตัวการหลักในการทำให้เกิดฟันผุ คือ Streptococcus mutans และ Lactobacillus species ซึ่งนอกจากจะสร้างกรดได้แล้ว แบคทีเรียนี้ยังสามารถทนต่อ pH ต่ำจากกรดที่มันสร้างขึ้นได้ ซึ่งกระบวนการสลายแร่ธาตุโดยกรดนี้ต้องใช้เวลา ดังนั้น หากเราทำความสะอาดช่องปากให้ทั่วถึงโดยการแปรงฟัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันเพื่อขจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์บริเวณที่แปรงฟันไม่ถึงอย่างสม่ำเสมอ ย่อมสามารถลดปัจจัยในการเกิดโรคฟันผุได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากแบคทีเรียแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดฟันผุได้อีก เช่น น้ำลาย พฤติกรรมการกินอาหาร ซึ่งแต่ละคนจะมีปัจจัยที่เสี่ยงที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากเราเป็นผู้ที่มีปัญหาฟันผุมาก จึงควรต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2560