เผยแพร่ |
---|
นายสมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในการแถลงโครงการวิจัย “หนอนตัวแบนนิวกินี : แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด” เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการวิจัยให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน “หนอนตัวแบนนิวกินี” แก่สังคมวิชาการและประชาชนทั่วไป จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สกว.ว่า แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การสร้างความรู้ที่ชัดเจน ตลอดจนการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในหลายมิติ เพื่อช่วยให้การควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการสากล จากการปรึกษาหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหลายภาคส่วน เห็นความจำเป็นในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหนอนตตัวแบนนิวกินี และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ เพื่อนำผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ ด้านสาธารณะ ด้านนโยบาย หรือด้านอื่นๆ
นายสมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว.และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ.และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หนอนตัวแบนนิวกินี หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari De Beauchamp, 1963 เป็นสัตว์ในกลุ่มเดียวกันกับหนอนตัวแบนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนบก ดำรงชีวิตแบบอิสระ และเป็นผู้ล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร มีลักษณะลำตัวแบน และเรียวยาว ปลายด้านหัวแหลมกว่าด้านท้ายลำตัว บริเวณหัวส่วนต้นพบตา 1 คู่ ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร ด้านหลังมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีเส้นกลางลำตัวสีครีม หรือเหลืองอ่อนพาดยาวตลอดลำตัว ด้านท้องมีสีเทา หรือน้ำตาลอ่อน มีปาก และคอหอยอยู่กลางลำตัวด้านท้อง หนอนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดบริเวณเกาะปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย และแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะแปซิฟิกข้างเคียง เนื่องจากหนอนตัวแบนชนิดนี้ สามารถล่าหอยทากบกเป็นอาหาร ทำให้มีการนำเข้าหนอนดังกล่าวเพื่อช่วยกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา Achatina fulica ในญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ล่าสุดหนอนชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานของโลก (World’s Worst Invasive Alien Species) เนื่องจากมีรายงานว่าหนอนดังกล่าวล่าหอยทากบกพื้นถิ่นเป็นอาหารด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวน และความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่นั้นลดลง
“นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าหนอนชนิดนี้สามารถล่าไส้เดือนดิน หนอนริบบิ้น หนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ เหาไม้ รวมทั้ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหารได้ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาว
หนอนตัวแบนนิวกินีขยายพันธุ์โดยการวางถุงไข่ ภายในมีตัวอ่อน 3-9 ตัว โดยใช้เวลา 6-9 วันในการฟักจากถุงไข่ และเมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์หนอนนิวกินีจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้อีกครั้ง จากรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยได้ถึง 2 ปีในห้องปฏิบัติการ หนอนตัวแบนนิวกินียังมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อนๆ เมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันหนอนนิวกินีแพร่กระจายไปทั่วโลก เชื่อว่าแพร่ระบาดไปกับดินเพาะปลูก และต้นไม้ประดับต่างๆ มีรายงานพบในสหรัฐเป็นครั้งแรกในรัฐฟลอริดาเมื่อปี ค.ศ.2012 ในทวีปยุโรปพบเป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.2013 และพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อปีค.ศ.2010” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของหนอนตัวแบนนิวกินีที่เริ่มมีการรายงานในประเทศไทย รวมถึง สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานชนิดอื่นๆ ที่รู้จัก และรับทราบกันเป็นเวลายาวนาน เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ต้นไมยราพยักษ์ ผักตบชวา ต้นบัวตอง เป็นต้น ทำให้การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานด้านสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น มีการระบาด หรือแพร่กระจายรวดเร็วหรือไม่ มีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วหรือไม่ และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือไม่
“การประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนนิวกินี ต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ของหอยทาก หรือเหยื่ออื่นๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน การตื่นตระหนกมากเกินไปของสังคมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และกำจัดหนอนชนิดอื่นที่เป็นชนิดท้องถิ่น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศแทน เช่น หนอนหัวค้อน และหนอนริบบิ้น ที่มีสี และลักษณะลำตัวที่แตกต่างกันกับหนอนนิวกินี แต่มีบทบาทเป็นผู้ล่า และช่วยควบคุมปริมาณของสัตว์หน้าดินให้มีปริมาณที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน รวมทั้ง ยังเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ เช่น นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมฟันแทะ ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และความตื่นตระหนกที่มากเกินไปอาจทำให้หนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ ในไทยถูกคุกคามเกินกว่าเหตุ และส่งผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาวได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากต้องการกำจัดให้ใช้เกลือโรย หรือใช้น้ำร้อนเทราด ห้ามกำจัดโดยการสับ หรือทุบ เพราะลำตัวสามารถงอกใหม่ได้ สำหรับภาคเกษตรกรรมนั้น ปัจจุบันถือว่าไม่ได้เป็นศัตรูทางการเกษตร แต่ต้องเฝ้าระวัง และสำรวจบริเวณแปลงเกษตรกรรมเพื่อประเมินผลกระทบ อีกทั้ง ควรมีการตรวจเช็ค และห่อบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยก่อนการขนส่ง