ข้าวโพดหวาน “ซันสวีท” สร้างความต่างจากจุดเล็กๆ

แม้ต้นทุนชีวิตจะมีไม่มาก แต่ด้วยความพากเพียร ไม่หยุดมองหาโอกาสใหม่ๆ และพร้อมรับมือกับทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามาทดสอบ ก็ทำให้ “ดร.องอาจ กิตติคุณชัย” อดีตเด็กหนุ่มที่เคยทำงานในโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ได้ก่อร่างสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาจนวันนี้กลายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เจ้าของบริษัทผู้ผลิตข้าวโพดหวานรายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทยที่กำลังจะเข้าไปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เร็วๆ นี้

ชีวิตที่ต่อสู้กับความลำบากมาตลอด ทำให้หนุ่มน้อยจากพิจิตรเมื่อหลายสิบปีก่อนเริ่มวาดฝันใหญ่ ตัดสินใจบอกลาอาชีพหนุ่มโรงงานที่เริ่มทำมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ย้ายไปตั้งต้นที่เชียงใหม่ พร้อมผันตัวเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตเกษตร อย่างลำไย ลิ้นจี่ ฯลฯ ขายเข้าโรงงาน

ดร.องอาจบอกว่า การเริ่มต้นเป็นเรื่องยาก เขาทุนน้อย มีความรู้ไม่มาก คอนเน็กชั่นก็ไม่มี จึงต้องพยายามหาช่องทางเอง ทำอะไรที่มากกว่าและดีกว่าคนอื่น เช่นยุคก่อนที่คนมักขายลำไยแบบคละไซซ์คละเกรด เขาก็มานั่งคัดลำไยให้ได้คุณภาพ-มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นไม่ทำนี้ ช่วยสร้างความแตกต่างและทำให้ลูกค้ามั่นใจคุณภาพสินค้าที่ซื้อจากเขา

ค้าขายไปได้ 7-8 ปี ก็เริ่มเห็นแนวโน้มว่าซื้อมาขายไปอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น จึงเริ่มเช่าโรงงาน ก่อนรวบรวมเงินทุนทั้งจากเพื่อนฝูงและธนาคารมาเปิดโรงงานของตัวเองในที่สุด

กระทั่งเหตุการณ์ “ต้มยำกุ้งไครซิส” วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มาถึงวิกฤตครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นคนที่มีหนี้สินหลายร้อยล้านบาท แต่ก็ไม่คิดทิ้งคนข้างหลังไว้แล้วหนีเอาตัวรอด ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายนั้น จึงพยายามดูว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร แล้วไปแก้ด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา ปรึกษาพูดคุยกับเจ้าหนี้ตรงๆ จนสามารถเคลียร์หนี้สินได้สำเร็จใน 5-7 ปีให้หลัง

วิกฤตครั้งนั้นทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เริ่มมองหาผลผลิตที่ยั่งยืนขึ้น จากการแปรรูปลำไย ลิ้นจี่ ที่เป็นผลไม้ตามฤดูกาล สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็น “ข้าวโพดหวาน” ที่ให้ผลผลิตได้ทั้งปี มีตลาด มีความต้องการอยู่ทั่วโลก และสามารถพัฒนา ยกระดับคุณภาพสินค้าได้อีกมาก

ซึ่งหลังได้ทุนสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย ปรับปรุงโรงงานครั้งใหญ่เพื่อรองรับการแปรรูปข้าวโพดหวาน ยอดขายก็ขยับขึ้นไปแตะพันล้านบาท ทว่า ยอดขายก็นิ่งอยู่ในระดับเดิมเป็น 10 ปี จนรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างแล้ว ซึ่ง “เทคโนโลยี” ก็เข้ามาเป็นคำตอบที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้

“ทุกวันนี้ต้องเอาเทคโนโลยีมาใส่ในการเกษตร เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลดการสูญเสีย ทำให้การผลิตมีต้นทุนต่ำลง แต่คุณภาพดีขึ้น ลูกค้าก็มั่นใจได้เรื่องคุณภาพ-ความปลอดภัยที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอาหาร”

ดังนั้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซันสวีทจึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ทั้งใช้ในโรงงาน รวมทั้งแปลงปลูกในรูปแบบ “สมาร์ทฟาร์ม” ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลพืช รวมทั้งวางแผนการปลูกให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี พร้อมกับพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรกว่า 2 หมื่นรายที่ทำงานร่วมกับซันสวีทในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ก็ช่วยให้ยอดขายขยายตัวต่อได้จนวันนี้มียอดขายเกือบ 2 พันล้านบาท มีกำไรส่วนต่างมากขึ้นกว่าเดิม

ต่อจากนี้ ซันสวีทอยากขยายตลาดในประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ยอดขายหลักมาจากต่างประเทศกว่า 80% โดยจะเน้นเรื่องสินค้าใหม่และการขยายช่องทางให้ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุด ส่งข้าวโพดหวานปิ้ง ตรา “เคซี” วางขายในเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาเมื่อ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาในราคาฝักละ 25 บาท ซึ่ง “ข้าวโพดหวาน” จะยังเป็นสินค้าหลักของซันสวีทในเวลานี้ แต่อนาคตก็มองภาพใหญ่ ต่อยอดพัฒนาสินค้าจากผักผลไม้ต่างๆ ทำอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาจเป็นสินค้าอื่นที่ต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีได้

“คิดการใหญ่ได้ แต่ต้องค่อยๆ ทำ มองให้รอบด้าน” นี่คือข้อคิดทิ้งท้ายจากนักสู้ที่ไม่เคยหยุดฝัน และเดินหน้าลงมือทำให้เป็นจริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2560 – วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2560