ช่วยควายน้ำทะเลน้อย ขุด 120 เนินให้พักชั่วคราว

แก้ปัญหาควายจมน้ำตาย กรมอุทยานแห่งชาติฯ อนุญาตให้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยขุดเนินดิน 120 เนิน ให้เป็นที่พักชั่วคราว อดีต ส.ส.พัทลุงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลควายขึ้นมาอยู่บนถนนลาดยางนานเจ็บตีนหนักกลัวป่วยตายยกฝูง

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดภาคใต้นั้น กรมอุทยานฯในฐานะหน่วยงานที่มีกำลังยานพาหนะและกำลังคน ได้ออกให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน เยียวยาประชาชนในพื้นที่ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การเข้าไปช่วยเคลื่อนย้ายอพยพผู้คนให้มาอยู่ในที่ปลอดภัย การนำของอุปโภคบริโภคเข้าไปแจกจ่าย เป็นต้น

“ในพื้นที่ภาคใต้มีที่น่าเป็นห่วงที่ประสบปัญหาเกือบทุกปี คือ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่ชาวบ้านเอาสัตว์เลี้ยง อย่างควายน้ำเข้ามาเลี้ยง โดยควายน้ำนั้นเป็นควายที่มีลักษณะพิเศษกว่าควายในพื้นที่อื่นคือสามารถว่ายน้ำอยู่ในน้ำได้ครั้งละนานๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมาปรากฏว่าน้ำมาเร็วและท่วมกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างทำให้ควายน้ำถึงแม้จะสามารถว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกล แต่หากไกลเกินไป ไม่มีเกาะให้พักก็จมน้ำตายได้เช่นเดียวกัน โดยปีที่ผ่านมามีรายงานว่าควายน้ำตายไปถึง 600 ตัว” นายธัญญา กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า ปีนี้ กรมอุทยานฯได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาชาวบ้านโดยผ่อนผันให้สามารถนำรถแบ๊กโฮเข้าไปก่อเนินดินเล็กๆ เพื่อให้เป็นที่พักของควายน้ำได้ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่การอนุมัติแบบถาวร และคิดว่าในอนาคตคงต้องหาพื้นที่ถาวรให้ควายน้ำเหล่านี้อาศัยอยู่อย่างถาวร

ด้าน นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีต สส.พัทลุง พรรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง นั้นมีควายน้ำ ซึ่งเป็นเหมือนสัตว์สัญลักษณ์ของ จังหวัดพัทลุง อาศัยอยู่ประมาณ 2,000 ตัว โดยในปีนี้แม้ปริมาณน้ำจะมากกว่าปี 2548 แต่ในพื้นที่ก็เตรียมตัวรับสถานการณ์กันดี โดยกรมอุทยานฯแห่งชาติได้อนุญาตให้ใช้รถแบ๊กโฮเข้าไปขุดเนินดินเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นที่พักของควายได้ 120 เนิน แต่ละเนินมีควายสามารถขึ้นไปอาศัยได้ประมาณ 20-30 ตัว โดยเวลานี้ยังไม่มีรายงานควายจมน้ำตาย

“อย่างไรก็ตามมีควายน้ำส่วนหนึ่งขึ้นมาอาศัยอยู่บนถนน และกำลังจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะควายจะยืนอยู่บนถนนลาดยางที่ค่อนข้างแข็งเป็นเวลานานไม่ได้จะทำให้ฝ่าตีนเป็นแผล รวมทั้งปัญหาการจราจร ที่ประชาชนต้องใช้รถปนกับฝูงควายและปัญหาอาหารไม่เพียงพอ เพราะภาคใต้พื้นที่ที่เป็นแหล่งหญ้าของควายถูกน้ำท่วมหญ้าตายหมด แต่เข้าใจว่าเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมปศุสัตว์กำลังหาหญ้าจากภาคอื่นๆ ลำเลียงมาให้อยู่” นายนริศ กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน

Advertisement