อดีตรมว.ศึกษาฯ-ส.ส.เมืองคอน เสนอ 8 ข้อแก้ยางตกต่ำ จี้ปลดผู้ว่า-บอร์ดการยางฯ

อดีต สส.เมืองคอน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ยื่น 8 ข้อ แก้ปัญหายางพารา

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 6 ธันวาคม 2560 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต สส.ปชป.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความลงในเพซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุว่า ตนได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม เสนอแนวคิด 8 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลนำมาเพื่อพิจารณาพร้อมกับหาข้อมูลเชิงลึกกับแกนนำยางในวันที่ 8 ธ.ค. นี้

ทั้งนี้ในจดหมายฉบับดังกล่าว ระบุ ตามที่ได้ติดตามสื่อมวลชนว่าท่านนายกรัฐมนตรี สั่งถอดสลักปัญหาราคายาง ท่านรองฯสมคิด จะลุยเอง และท่านกฤษฏาจะเดินหน้าแก้ปัญหาราคายางและพบปะแกนนำชาวสวนยางในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ทำให้กระผมและพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมีความหวังครับ ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนี้เป็นบวกต่อการแก้ปัญหา กล่าวคือ ฝนตกหนักในภาคใต้ต่อเนื่องทำให้ปริมาณยางช่วงนี้ลดลง ไฟไหม้คลังสินค้ายางที่เมืองชินเต๋า ประเทศจีน และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำตลอด 3 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบ และจริงจัง หากมีผลเป็นรูปธรรมก็จะเกิดจิตวิทยาการตลาดทางบวกและจะเกิดเสถียรภาพราคายางในอนาคตด้วย กระผมจึงขอเสนอความคิดเห็น ในฐานะชาวสวนยางที่คลุกคลีกับปัญหามาอย่างยาวนานคนหนึ่ง ดังนี้ครับ. 1) ให้ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย และบอร์ดการยางทันที เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ทำงานล้มเหลว ผิดพลาด ส่อไปในทางไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการบริหารงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พรบ.การยางฯ และขายยางในสต๊อค 200,000 ตันในช่วงต้นปีที่ราคากำลังอยู่ในขาขึ้น เกิดความเสียหายแก่รัฐและเกษตรกรนับหมื่นล้านบาท และส่งเรื่องนี้ให้ ปปช. ตรวจสอบด้วย. นับเป็นด่านแรกในการสร้างความเชื่อมั่น

2) ในการจัดประชุมในวันที่ 8 ธ.ค นี้ ควรเปิดกว้างและอดทนต่อการรับฟังความคิดเห็นจากแกนนำชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหา ไม่มองเป็นประเด็นการเมืองและเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเท่านั้น หรือข้อเสนอง่ายๆเพียงให้ปลูกมะพร้าวแทน แต่ควรเป็นยุทธศาสตร์ที่ครบวงจร รอบด้าน 3) แต่งตั้งผู้ว่าการยางฯและบอร์ดชุดใหม่ จากบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องยางพาราอย่างแท้จริง มาขับเคลื่อนการยางแห่งประเทศไทยให้มีเอกภาพและตอบโจทย์ วัตถุประสงค์หลักของ พรบ.การยางฯคือการพัฒนา การวิจัย การปลูกแทน การสร้างเสถียรภาพราคาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง 4) ต้องส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางในประเทศอย่างจริงจัง นโยบายให้ส่วนราชการข่วยรับซื้อยางล้มเหลวและไม่เป็นจริง รัฐบาลต้องสนับสนุนให้การยางจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยาง ในพื้นที่ของการยาง (ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช)โดยร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรม ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยทำอัพเทรนเพื่อเป็นศูนย์โลติสติกส์ทางรางและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนและหรือมาตรการลดหย่อนภาษี รัฐบาลควรนำร่องจัดตั้งโรงงานผสมยางมะตอยกับยางพาราเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปลาดถนน ซึ่งการนำร่องจากยางท้องถิ่นแล้ว แต่ไม่จริงจังต่อเนื่อง หรือตั้งโรงงานทำล้อรถยนต์ให้ส่วนราชการนำไปใช้ เป็นต้น เพื่อให้การใช้ยางของส่วนราชการภายในประเทศเป็นจริงและสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวด้วย

5) ยกระดับปัญหาราคายางเป็นปัญหาระดับภูมิภาคหรืออาเซี่ยน เพราะมีความจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตหลักและประเทศในภูมิภาค ถึงแม้ประเทศไทย จะลดพื้นที่ไปปลูกมะพร้าว หรือโค่นยางทิ้งหรือวิธีการอื่นก็ไม่เป็นผล ถ้าประเทศอื่นเขาปลูกยางเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกันและที่สำคัญ ควรเสนอให้ย้ายสำนักงานสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC)จากประเทศมาเลเซีย มาอยู่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลกโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้ยางเกิดความมั่นใจทั้งเรื่องการผลิต การส่งมอบยางจริง การประสานงานเหมาะสม รวดเร็ว และเป็นการแสดงภาวะผู้นำของไทยในฐานะที่เป็นประเทศผผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก

6) ด้านราคาที่ยั่งยืน เรามีตลาดกลางยางพาราครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ ต้องให้มีการซื้อ-ขาย ส่งมอบจริงทันที และที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นตลาดกลางยางธรรมชาติของโลก หรืออย่างน้อยของภูมิภาคเพื่อให้ประเทศผู้ผลิต ANRPC เข้ามาขายโดยส่งมอบจากประเทศผู้ผลิตใดก็ได้ และเปิดโอกาสให้ประเทศผู้ซื้อได้มาซื้อได้ในราคาเดียวกันและเป็นราคาบนพื้นฐานของการผลิตเฉลี่ยตามความเป็นจริงที่ยุติธรรม ส่วนความแตกต่างของราคาในแต่ละภูมิภาคให้ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายต่างๆขณะส่งมอบ ก็เท่ากับว่าผู้ผลิตมีส่วนในการกำหนดราคาเองได้ และจะถือเป็นราคาตลาดโลกฝ่ายผู้ผลิต และจะทำให้ตลาดล่วงหน้า(Rubber Exchanges) ในประเทศต่างๆที่ซื้อขายกระดาษและไม่มีการส่งมอบจริง จะได้อ้างอิงข้อมูลจากตลาดกลางนี้. ราคาจะได้ไม่ถูกบิดเบี้ยว ที่มักกล่าวอ้างว่าเป็นราคาตลาดโลก โดยเฉพาะการยางฯไปจับมือบริษัทห้าเสือเข้ามาแทรกแซงตลาดต้องหยุดทันทีเพราะทำให้ตลาดขาดความเชื่อมั่น

7) รัฐบาลควรปรับปรุงการบริหารเงินกองทุนเงินค่า ธรรมเนียมการส่งออก(CESS) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา และส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพิ่มสัดส่วนการปลูกพืขแทนยางหรือการปลูกพืชแซมในสวนยาง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรราย่อย ตลอดถึงเป็นกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตย่างยั่งยืนให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เกษตรกรชาวสวนยางชายขอบ และลูกจ้างกรีดยาง 8)เมื่อประเทศไทยเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรรายย่อย ควรนำศาสตร์พระราชามาใช้ส่งเสริมวิถีชีวิตอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน เช่นรวมกันทำยางแผ่นดิบที่มีคุณภาพเป็นต้นและหากรัฐบาลจะส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นทดแทน เช่นมะพร้าว กล้วยฯลฯ รัฐบาลควรมีมาตรการอย่างครบวงจร เช่นดูแลในข่วงเปลี่ยนผ่านที่เกษตรกรรายย่อยไม่มีรายได้ หรือมาตรการประกันในอนาคตหากเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นตามนโยบายแล้วราคาตกต่ำหรือขายไม่ได้ ลงชื่อ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ

Advertisement

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

Advertisement