ชาวสวนจี้ซื้อยางแสนตันดันราคาพ้น 60 บาท

ยาง-ปาล์มราคาตกรูดทำตลาดภาคใต้เงียบสนิท หลัง รมว.เกษตรคนใหม่ “กฤษฎา” ลั่นไม่มีแทรกแซงราคายางโดยเด็ดขาดแล้วราคายางจะดีขึ้นภายใน 3 เดือน ด้านสหพันธ์ชาวสวนยางบอกต้องรออีก 1 เดือนจนกว่าจีนจะกลับมาซื้อยาง แนะรัฐบาลช่วงนี้จะต้องซื้อยางเข้าเก็บอีก 100,000 ตันรวมสต๊อกเก่าเป็น 200,000 ตันจึงจะดันราคายางโงหัวขึ้นมาได้

จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน และให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งรัดให้มีการใช้ยางพาราในประเทศปีนี้ 200,000 ตันด้วยการใช้น้ำยางข้นในการปูพื้นสระอ่างเก็บน้ำที่รั่วซึม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเรื่องนี้ไปดำเนินการและให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปแก้ปัญหาผู้บุกรุกป่าปลูกยาง 8.5 ล้านไร่โดยเฉพาะในส่วนนายทุนที่บุกรุกปลูกยาง 1.5 ล้านไร่

ไม่โละสต๊อกแสนตัน

ล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีนโยบายการแก้ไขยางพาราได้กำหนดไว้ 3 ด้าน 1)ผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องลดผลิต-ลดพื้นที่ปลูก 2)ผู้ซื้อ ต้องหาตลาด เร่งเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตยางตลาดต่างประเทศ และ 3)การปรับกลไกการบริหารยางให้มีประสิทธิภาพทั้งระบบ โดยเน้นรับฟังเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อมาแก้ไข รวมทั้งได้เน้นย้ำว่า “รัฐบาลจะไม่มีการแทรกแซงราคายางอย่างเด็ดขาด”

ส่วนนโยบายเร่งด่วน จะเร่งประสานแต่ละกระทรวงให้นำยางไปใช้ในประเทศให้มากที่สุดและรัฐบาลไม่มีมาตรการขายยางเก่าในสต๊อกจำนวน 100,000 ตันออกสู่ตลาด ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนได้หารือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม-กระทรวงการคลัง ในเรื่องของการแก้ไขกฎระเบียบราชพัสดุ เพื่อให้สามารถนำยางพาราไปใช้ในการแปรรูป ทั้งถุงมือยางและอื่น ๆให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากติดปัญหามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

“ในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปว่าแต่ละกระทรวงต้องนำยางพาราไปใช้ในปริมาณเท่าใด” นายกฤษฎากล่าว

สำหรับมาตรการลดพื้นที่ปลูกยางพารานั้น กระทรวงเกษตรฯจะเน้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพไปปลูก มะพร้าวหรือกล้วยหอม แทน “ซึ่งยังมีช่องทางตลาดอีกมาก” แต่ต้องคำนึงถึงตลาดเป็นหลักการสำคัญ รวมทั้งได้หารือร่วมกับ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เรื่องของอุปสงค์-อุปทาน การบริการจัดการตลาดโดยเชื่อว่า 3 เดือนแรกจะต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมและเกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

Advertisement

“ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้ง ผู้ผลิต ชาวสวนยาง ผู้รับซื้อ ผู้คุมการตลาดให้ชัดเจน ผมยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายแทรกแซงราคายางและผมก็ไม่มีแนวคิดเรื่องการแจกเงิน แต่จะช่วยเหลือเกษตรกรระยะยาว ไม่ได้ช่วยตัวเงิน และในสัปดาห์หน้ากระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอแผนช่วยเหลือเกษตรแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำต่อ ครม.รวมทั้งแผนของ ครม.ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการให้ส่วนราชการนำยางพาราในสต๊อกกว่า 100,000 ตันไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ” นายกฤษฎากล่าว

“สนธิรัตน์” เร่งหาตลาดส่งออก

Advertisement

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ามาตรการดูแลสินค้าเกษตรกรโดยเฉพาะปัญหาของยางพารา-ปาล์มน้ำมัน หรือ ข้าวนั้น กระทรวงพาณิชย์จะติดตามดูแลอย่างเต็มที่และพร้อมจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นเรื่องราคายางพารา กระทรวงพาณิชย์จะติดตามและผลักดันมาตรการส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้สินค้ามีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีปริมาณสต๊อกล้นกว่า 500,000 ตันจนทำให้ราคาตกต่ำลงนั้น ทางกระทรวงได้มีการหารือกับ กระทรวงพลังงาน เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเหลือดูดซับ นำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล B7 อย่างต่อเนื่อง

“เพื่อให้สต๊อกลดลง” ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ก็จะเร่งหาตลาดเพื่อผลักดันการส่งออกด้วยพร้อมกับจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เรื่องผลผลิตต่อไป

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ประเทศไทยสามารถส่งออกยางพาราคิดเป็นมูลค่า 5,034 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 43.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางสามารถส่งออกได้ 8,405 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 54.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ให้ซื้อยางเก็บอีกแสนตัน

นายบุญส่ง นับทอง ที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าอยากจะรู้ว่ากำลังซื้อในภาคใต้หายไปเท่าใด กรณีราคายางพาราตกต่ำเหลือ กก.ละ 43-45 บาท รวมทั้ง ราคาปาล์มตกต่ำจาก กก.ละ 4-5 บาทเหลือ กก.ละ 2.70 บาทในขณะนี้จากต้นทุนการผลิต กก.ละ 3.80 บาทก็ให้ไปเดินในตลาดทั่วภาคใต้ได้เลยว่า “มันเงียบเหงาเพียงใด”

การที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่จะเร่งแก้ปัญหายางภายใน 3 เดือน “นับเป็นสิ่งที่ดี”
แต่ในระยะกลางและยาวรัฐบาลและ กยท.ต้องเร่งชาวสวนยางปลูกพืชแซมในสวนยางและทำอาชีพเสริม ถ้าทำได้จะสร้างความมั่นคงในระยะยาว

ส่วนในระยะสั้นตอนนี้ชาวสวนยางอยู่ในภาวะเข้าห้อง “ICU” ไปแล้ว นอกจากราคายางจะตกต่ำแล้วชาวสวนยางภาคใต้ยังกรีดยางไม่ได้จากภาวะฝนตกชุกต่อเนื่องและท่วมในหลายจังหวัดคาดว่า ผลผลิตยางในภาคใต้ที่หายไปเดือนพฤศจิกายนนี้ตกประมาณ 200,000 ตัน

เมื่อรวมกับการจำกัดการส่งออกของ 3 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในเดือนธันวาคม 2560 ถึง กุมภาพันธ์ 2561 อีกประมาณ 300,000 กว่าตัน “ถือว่ามากพอสมควร” ดังนั้นถ้ารัฐบาลตั้งเป้าดึงราคายางขึ้นไปที่ 60 บาท/กก. จะต้องฉวยโอกาสนี้ซื้อยางเก็บไว้ระยะหนึ่งอีกไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน และให้ทูตพาณิชย์หาตลาดรองรับ เช่น ยุโรป รัสเซีย ตะวันออกกลาง ราคายางจึงจะขยับขึ้นไปได้อย่างแน่นอน

“สถานการณ์ช่วงนี้น่าจะเอื้อให้ราคายางสูงขึ้น ทั้งการจำกัดการส่งออกในช่วง 3 เดือนข้างหน้า สต๊อกยางของผู้ส่งออกไทยเองก็จะเหลือน้อยมาก สต๊อกยางที่จีนเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้าประมาณ 510,000 ตันตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ 300,000 กว่าตันแล้ว และยังเกิดไฟไหม้โกดังยางที่เมืองชิงเต่าของจีนอีก 30,000 กว่าตัน การกรีดยางของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ลดลงจากฝนตกชุกและน้ำท่วมบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2561 ที่จีนจะกลับมาซื้อยางครั้งใหญ่ ดังนั้นราคายางจะขยับขึ้นตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย” นายบุญส่งกล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์