เผยแพร่ |
---|
ผลักดัน – บริษัท ที.เค.การ์เม้นท์ แม่สอด จำกัด จ.ตาก ได้พยายามช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ จ.ตาก ที่ประสบปลูกข้าวโพดราคาตกต่ำ ชักจูงให้มาปลูกกล้วยหอมส่งออก
ที.เค.การ์เม้นท์ผนึกผู้ว่าฯ จ.ตาก-2 สถาบันการศึกษานำร่อง “ยุทธศาสตร์เกษตรอุตสาหกรรม” ส่งออกกล้วยหอม ไปญี่ปุ่น-เกาหลี ออร์เดอร์ทะลัก
“10 สหกรณ์กล้วยหอมกระอัก TK ประชารัฐส่งออกไม่ได้เป้า” นั้น ในข้อเท็จจริงปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายเกษตรกรเข้าร่วมทำสัญญาซื้อขายกล้วยหอม จำนวน 66 ราย แต่มีเกษตรกรเพียง 2 รายที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานส่งออกของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากไม่ได้ปลูกตามวิธีการและมาตรฐานที่เข้มงวด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นแนะนำไว้ ห้ามใช้สารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตที่ลูกเล็ก ลีบ ไม่สมบูรณ์ จึงไม่ได้รับซื้อ และปัจจุบันบริษัทมีออร์เดอร์จากญี่ปุ่นส่งออกสัปดาห์ละ 25 ตู้คอนเทนเนอร์ และเกาหลีส่งออกสัปดาห์ละ 10-15 ตู้คอนเทนเนอร์ โดย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ มีปริมาณ 15,000 กิโลกรัม
“เราทำธุรกิจการ์เมนต์เมื่อปี 2559 เห็นปัญหาราคาพืชผลเกษตรใน 5 อำเภอโดยเฉพาะ อ.แม่สอด, แม่ระมาด, พบพระ, อุ้มผาง และท่าสองยาง ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดราคาตก เราอยากดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรคล้ายกับโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ที่ส่งเสริมชาวไทยภูเขาปลูกผักนำมาขาย และช่วยหาตลาดให้ เราเองพอมีพรรคพวกที่ทำธุรกิจเกษตรส่งออก เลยไปหารือกับผู้ว่าราชการ จ.ตาก ว่าเกษตรกรน่าจะเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ซึ่งนาน ๆ ถึงจะราคาดี ผู้ว่าฯบอกให้ลองไปหาตลาดต่างประเทศว่าต้องการอะไร และเกษตรกรไทยสามารถผลิตส่งไปขายต่างประเทศได้ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.เค.กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บินไปสำรวจตลาดญี่ปุ่น และเกาหลี พบว่าต้องการกล้วยหอม ขิง มะม่วง เป็นตลาดใหญ่มาก เราโชคดีได้ผู้เชี่ยวชาญการปลูกกล้วยหอมจากญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำเกษตรกรฟรี”
หลังจากนั้นได้ช่วยกันส่งเสริมโดยแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว เห็นว่าควรผลักดันเป็นเกษตรอุตสาหกรรม และได้ร่วมกันจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์เกษตรอุตสาหกรรม 5 ปีของ จ.ตากขึ้นมา โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สาขาตาก เข้ามาช่วยเรื่องการปลูก แต่ในการประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือ ได้มีการผลักดันทำให้กลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เช่น จ.ตาก มีกล้วยหอม หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว จ.เพชรบูรณ์ ปลูกขิง จ.สุโขทัย ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นต้น และปัจจุบันได้กลายเป็นยุทธศาสตร์เกษตรอุตสาหกรรมของพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีพื้นที่ภาคเหนือในเร็ว ๆ นี้จะเสนอเรื่องเกษตรอุตสาหกรรมเป็น 1 ใน 4 เรื่องให้กับนายกรัฐมนตรีเดิมผลักดันเป็นยุทธศาสตร์เกษตรอุตสาหกรรมกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และตาก เราได้ของบประมาณมา 50 ล้านบาท เพื่อสร้างห้องเย็น 2 แห่งที่ อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ ทาง จ.ตากได้รับมา โดยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตอนนี้เปิดประมูลและทำสัญญาไปแล้ว เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เกษตรกรสามารถนำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาเข้าห้องเย็น เพราะกล้วยหอมพอตัดแล้วต้องเข้าห้องเย็นเพื่อชะลอไม่ให้สุกเร็ว ก่อนส่งออกเมื่อห้องเย็นแล้วเสร็จ จะทำให้สามารถขยายเครือข่ายเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรทั้งหมด 66 ราย กล้วยที่ปลูกทั้งหมด 220,000 ตัน ได้ผลผลิตคิดเป็นน้ำหนักรวมประมาณ 2,860 ตัน ขณะเดียวกัน บริษัท ที.เค.การ์เม้นท์เอง มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอม 900 ไร่ ที่ อ.พบพระ และแม่สอด เพื่อปลูกเป็นตัวอย่างให้เกษตรกร ทั้งนี้ ในการรับซื้อกล้วยหอมจะแบ่งเป็น 3 เกรด โดยเกรด A รับซื้อราคา 13 บาท/กก. เกรด B รับซื้อราคา 8-10 บาท/กก. และเกรด C รับซื้อตามคุณภาพไม่ได้ระบุชัดเจน ส่วนกล้วยตกเกรดกำลังวางแผนตั้งโรงงานแปรรูปมาต่อยอดเช่น ทำกล้วยอบแห้ง ส่งไปญี่ปุ่น เกาหลี ตอนนี้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแบบบรรจุภัณฑ์อยู่
นอกจากนี้การปลูกมีปัญหาเรื่องหน่อพันธุ์กล้วยหอมที่นำมาปลูก เติบโตและสุกไม่เท่ากันในแต่ละรุ่น ทางบริษัท ที.เค.การ์เม้นท์ จึงลงทุนส่วนตัวสร้างห้องแล็บเพื่อเพาะเนื้อเยื่อออกมาเป็นต้นกล้ากล้วยหอมนำไปปลูก ขณะเดียวกันได้ผลักดันให้ภาครัฐโดยให้ทางจังหวัดของบประมาณโดยให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก ดำเนินการเพาะเนื้อเยื่อเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูก
โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ถ้าทำสำเร็จเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือจะมีรายได้เพียงพอที่จะลืมตาอ้าปากได้