ไทยรับจัดแข่งขันหุ่นยนต์ ครั้งแรกของเอเชียแปซิฟิก

ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ RoboCup Asia-Pacific 2017 เวทีการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค พร้อมจัด Thailand Robotics Week 2017 รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เปิดเวทีปั้นสตาร์ทอัพไทยสายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้าพิชชิ่งกับเหล่านักลงทุนและธุรกิจร่วมลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ และเข้าฟังสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง ระหว่าง 14 – 17 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และ 18 ธันวาคมนี้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานจัดงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจาก International RoboCup Federation ให้เป็นเจ้าภาพจัด RoboCup Asia-Pacific 2017 หรือ RCAP 2017 การแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์นานาชาติครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพื่อกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงสร้างบุคลากรและเครือข่ายนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ พร้อมยกระดับมาตรฐานวงการหุ่นยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Robotics Week 2017 ระหว่าง 14 – 17 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค” และ 18 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

การเป็นเจ้าภาพจัดงาน RoboCup Asia-Pacific 2017 ในครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตอบรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ว่าด้วยการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม โดยมีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดย Thailand Robotics Week 2017 จะขยายขอบเขตของงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากนักศึกษา สถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐบาล โดยต้องการที่จะเข้าถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ System Integrator ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงสถาบันการเงิน นักลงทุน และธุรกิจร่วมลงทุน ทั้งยังจะเป็นก้าวแรกของประเทศไทยสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก อย่าง World RoboCup 2021 อีกด้วย

ภายใน Thailand Robotics Week 2017 จะประกอบไปด้วยงาน 4 ส่วน ได้แก่ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ด้านหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ,การจัดงานส่งเสริมด้าน Robotics Start Up & Pitching Forum การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Asia-Pacific 2017
และการประชุมวิชาการด้านหุ่นยนต์ระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการหุ่นยนต์นั่นเอง