ชาวสวนหวังงานชิ้นโบแดง ‘ประยุทธ์5’ ภารกิจ ‘สมคิด’ ดับร้อนปมยาง-ปาล์ม

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ประยุทธ์ 5” หมาดๆ สอดรับกับการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา ปลายเดือนพฤศจิกายน

ที่ผ่านมา คือการปรับทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้วจะเข้ามาแก้ปัญหาพืชเศรษฐกิจที่กำลังร้อนรุ่มกลุ้มใจได้อย่างไร ที่หนักสุดตอนนี้ คือปัญหาราคายาง และปาล์มน้ำมันตกต่ำ ปริมาณล้นตลาด

บิ๊กตู่จี้แก้2พืชราคาตกต่ำ

ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับถึงปัญหายางพาราว่า “เรื่องยางพาราต้องแก้โดยการปลูกในพื้นที่ถูกต้อง และต้องดูแลคนที่บุกรุกพื้นที่ป่าหรือภูเขาด้วย ยืนยันว่าแก้ปัญหาเรื่องยางพาราอย่างเต็มที่ และไม่เคยบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ตัวเองรอด แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าการแก้ปัญหาต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องดูตลาดโลกด้วย

อย่าออกมาเดินขบวนประท้วงหรือออกมาวิ่งเพื่อเรียกร้องอะไรเลย รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอยู่ ทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางให้มากขึ้นในด้านการคมนาคม ….ทุกวันนี้แก้ปัญหายางพาราอยู่ ถ้ากินได้ กินไปแล้ว…”

พร้อมกับสั่งการให้มีการตรวจสอบสต๊อกยางที่มีอยู่ทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไร และใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นเป็นแสนตันให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับสั่งการให้ร่วมมือกันใช้ยางพาราปูอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำที่เก็บน้ำไม่อยู่ หากไม่ทำจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามนโยบายของนายกฯ และในโอกาสเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เยี่ยมชมพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปโรงงานน้ำมันปาล์ม ตั้งใน จ.ปัตตานี ก็เน้นให้หน่วยงานราชการวางแผนร่วมกับเกษตรกร เพื่อกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม

ลดการนำเข้า แต่ต้องไม่ให้สินค้าล้นตลาด

ดังนั้น ในการประชุม ครม.สัญจร สงขลา วันที่ 28 พฤศจิกายนมีมติรับทราบทิศทางการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยการพัฒนาเขตพื้นที่อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราหาดใหญ่-สะเดา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและนิคมอุตสาหกรรมยาง (รับเบอร์ ซิตี้) ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี (อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมีจากไขมันสัตว์และน้ำมันจากพืช) แบบครบวงจรในกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร จัดตั้งศูนย์กลางการผลิตไบโอดีเซลในกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร พัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมการผลิตภาคเกษตร ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงมาตรการหรือแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน!!

ชาวสวนยางบุกก.เกษตรฯ

เมื่อทีมดูแลเกษตรเปลี่ยนคนและนายกรัฐมนตรีก็กำชับให้เร่งแก้ปัญหา!! ในสัปดาห์ต่อมา ตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กว่า 30 คน บุกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ายื่นข้อเสนอ “การปฏิรูปยางพาราไทยทั้งระบบ” ถึง นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยตรง ถือเป็นก้าวแรกของการหารือชาวสวนกับรัฐมนตรีใหม่

ซึ่ง 3 ข้อเสนอของชาวสวนยาง คือ 1.ขอให้มีตัวแทนชาวสวนยางชายขอบมีส่วนร่วมกับการกำกับดูแลยางร่วมกับคณะกรรมการด้านยางระดับสูงขึ้นไป เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)

2.ขอให้ตัวแทนชาวสวนยางเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอกลยุทธ์ ในยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-79) ของ กยท. และ 3.ขอให้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 49(5) ซึ่งระบุว่าให้นำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกยางพารา (เงินเซส) ไม่เกิน 7% เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เปลี่ยนเป็นให้เกษตรกรสวนยางที่สมัครใจ สามารถจ่ายเงินสมทบเป็นสวัสดิการแก่ตัวเองด้วย  วันนั้นจึงเกิดความคืบหน้า โดย กยท.รับไปดูและจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กยท. ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร

จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันที่มีตัวแทนกระทรวงเกษตรฯ ชาวสวนยาง และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และกำหนดแนวทางที่ลดปัญหาในอนาคต เช่น การปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง ปฏิรูปสวนยาง ปฏิรูปการผลิต และการแปรรูปยาง สนับสนุนรวมกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อให้สร้างมูลค่าเพิ่มและทำการตลาดได้

ยื่น3ข้อเสนอให้เวลา30วัน

ก่อนกลับ นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ระบุไว้ว่า

“หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามที่เรียกร้อง 2-3 ข้อหลัก ภายใน 30 วันจากนี้ จะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวที่กระทรวงเกษตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยต้องการให้แก้ไข พ.ร.บ.การยางฯ มาตรา 49(5) หากชาวสวนยางสามารถจ่ายเงินสมทบได้

ก็ให้ กยท.จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่คนกรีดยาง 3,000 บาทต่อครัวเรือน กรณีเมื่อเกิดวิกฤตราคายางพารา จากเดิมตามระเบียบต้องรอเกษตรกรเสียชีวิตก่อน กยท.ถึงจ่ายเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อครัวเรือน

“ชาวสวนยางมีมติกันว่าจะจ่ายสมทบวันละ 1 บาทต่อคน โดยปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน ถ้ามีผู้สมัครใจประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ก็จะทำให้ปีหนึ่งมีเงินสมทบ 365 ล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับเงินจัดสรรดูแลชาวสวนยางซึ่งแบ่งจากเงินเซส 7% หรือประมาณ 420 ล้านบาทที่มีอยู่เดิม จะทำให้มีเงินที่ใช้เป็นสวัสดิการแก่ชาวสวนยางรวมไม่ต่ำกว่า 700 กว่าล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ต้องการให้ชาวสวนยางชายขอบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการยางพารา และได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงจากภาครัฐ โดยชาวสวนยางชายขอบมีประมาณมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน หมายรวมถึงชาวสวนยางทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน และชาวสวนยางรายย่อย ที่ทำยางไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน”

2คณะปาล์มถกด่วน

ด้านแก้ปัญหาปาล์ม ในสัปดาห์เดียวกันกับที่ชาวสวนยางเข้าพบกระทรวงเกษตรฯ คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จัดประชุมเพื่อออกแนวทางลดปัญหาปาล์มที่เจอตัวเลขล้นสต๊อกเกือบ 5 แสนตัน เกินสต๊อกปลอดภัยที่ 3 แสนตัน หากปล่อยอาจดึงราคาปาล์มต้นปีหน้าร่วงต่ำกว่า 3.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ชาวสวนปาล์มรับไม่ได้!!

ทั้งนี้ ในการประชุม กนป. มีรายงานว่า ขณะนี้ไทยมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ถึง 5 แสนกว่าตัน ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุด ไม่เคยมีมาก่อน สูงแบบนี้เกิดจากขาดการบริหารแบบบูรณาการ โดยมีมติให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลการผลักดันส่งออกซีพีโอ 1 แสนตัน

ส่วนกระทรวงพลังงานดูแลการนำซีพีโอ 1 แสนตันไปทำไบโอดีเซล รวมให้ดูดซับออกไป 2 แสนตัน นอกจากนี้ยังมีองค์การคลังสินค้า และ บริษัท ปตท. ที่จะเข้ามาช่วยดูดซับอีกหากจำเป็น ส่วนพืชเกษตรสำคัญอื่นๆ หน่วยงานไหนที่เป็นเจ้าภาพดูแลก็ให้สามารถระบุคนดูแลได้

เร่งส่งออกลดสต๊อกปาล์ม

หลังการประชุม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเผยถึงมติ กนป.ว่า มอบให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) 1 แสนตัน

และให้กระทรวงพลังงานใช้ซีพีโอผลิตไบโอดีเซลบี 7 เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนตัน เป้าหวังลดสต๊อก 2 แสนตัน ภายใน 2 เดือนจากนี้ หวังดันราคาปาล์มเกิน 3.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขั้นตอนของกระทรวงพาณิชย์ในส่วนการส่งออกซีพีโอ ได้สั่งการให้

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) หาตลาดเป้าหมาย เร่งหาผู้ซื้อและผู้นำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ส่งออก คาดว่าในเดือนธันวาคมนี้จะส่งออกได้ 6 หมื่นตัน และเดือนมกราคมปีหน้าจะส่งออกได้เพิ่มอีก 7 หมื่นตัน

และหากจำเป็นสามารถให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้ามาช่วยดูดซับซีพีโอได้ ก็ต้องรอผล เพราะตลาดส่งออกก็ต้องอ้างอิงราคาตลาดหลักอย่างมาเลเซีย ซึ่งราคายังต่ำ หากไทยส่งออกในราคาสูงกว่า ย่อมยากที่จะผลักดันการส่งออก จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม

ซึ่งก็ไม่เท่ากับที่ต้องจับตาจากนี้ หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าตรวจงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ผู้ว่าการ กยท. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร และการแก้ปัญหาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ นับว่าเป็นการเข้ามามอบหมาย “การบ้าน” ที่กระทรวงเกษตรฯด้วยตนเองเป็นครั้งแรก หลังเข้ามานั่งเก้าอี้กุนซือด้านเศรษฐกิจให้รัฐบาล “ประยุทธ์” มาเกือบ 4 ปี

สมคิดจี้ก.เกษตรฯเร่งผลงาน

นายสมคิดกล่าวว่า “ทุกเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำออกมาเกิดผลเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด งานระยะเร่งด่วนให้เร่งแก้ไขปัญหายางพารา โดยราคายางเป็นปัญหาสะสมมา 15 ปีแล้ว เดิมปลูกยางพาราแค่ภาคใต้พอราคาดี มีการเพิ่มปริมาณปลูกกระจายไปยังภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

ระยะหลังราคาน้ำมันโลกลง แต่การผลิตยางของไทยไม่เปลี่ยนแปลง มีสินค้าเข้ามาทดแทน เกิดซัพพลายยางล้นตลาด เบื้องต้นมี 2 วิธีที่จะต้องทำ คือระยะสั้น ประคองราคายางให้เหมาะสมและสมเหตุสมผล การซื้อขายยางด้วยราคาต่ำกว่าต้นทุนไม่ควรจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯจะหารือกับผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องต่อไป และระยะยาวจะต้องส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา”

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ออกมารับลูกทันทีหลังประชุมร่วมกับนายสมคิด ว่ามี 3 แนวทางในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในขณะนี้ คือ

1.ขอให้ส่วนราชการ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพิ่มการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น สร้างถนนจาก 3 หมื่นตัน เป็น 5-8 หมื่นตัน

2.ขอความร่วมมือเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้เข้ามาช่วยรับซื้อยาง หาก 2 แนวทางดังกล่าวยังไม่สามารถดูดซับซัพพลายยางออกจากตลาดได้เพียงพอ ก็จะใช้แนวทางที่ 3.ให้ กยท.เข้าซื้อยางในตลาดในราคาสูงกว่าต้นทุน อย่างไรก็ตามต้องดูสถานะการเงินของ กยท.ก่อน

 รมว.เกษตรฯขอเวลา3เดือน

“คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3-4 เดือน และคาดว่าจะช่วยผลักดันราคายางขยับขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางอยู่ที่ 46-47 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาขยับขึ้นมา 1.30 บาท จากสัปดาห์ก่อนหน้า และยืนยันว่ายางที่มีอยู่ในสต๊อก 1 แสนกว่าตัน จะยังไม่นำออกมา ส่วนงานระยะกลาง-ยาว ในการแก้ปัญหายางพารา มีทั้งเรื่องส่งเสริมต้องลดพื้นที่ปลูกลง ปลูกพืชแซมยางสร้างความหลากหลายของพื้นที่ปลูกลดความเสี่ยง ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ยางพารา เป็นต้น”

ขณะที่ นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ออกมาตอกย้ำอีกครั้งว่า

“เข้าใจนโยบายภาครัฐที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหายางพารา และเห็นด้วยที่มีการส่งเสริมให้ใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการสนับสนุนส่วนราชการให้นำยางพาไปใช้ในการสร้างถนน อย่างไรก็ตามต้องติดตามดูว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณยางทำถนนได้มากน้อยเพียงใด เพราะยังติดระเบียบพัสดุและมาตรฐานรองรับใช้ยางทำถนนอยู่ ทำให้ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยมีการใช้ยางทำถนนนัก จึงต้องการให้ภาครัฐแก้ระเบียบและทำมาตรฐานรองรับสำหรับใช้ยางทำถนนควบคู่กันด้วย

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว กระทรวงเกษตรฯควรร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเข้ามาดูแลที่ปลูกยางที่ไม่มีโฉนดที่ดิน ประมาณ 5 ล้านไร่ ในแง่จัดสรรให้มีที่ดินทำกิน ในพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมแล้ว ไม่ใช่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ ส่งเสริมให้ลดจำนวนปลูกต้นยางต่อไร่ลง ปลูกพืชอื่นแซมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ตรงนี้จะช่วยลดผลผลิตยาง ป่าได้รับการฟื้นฟู และเกษตรกรยังมีที่ดินทำกิน”

จากการเคลื่อนไหวไม่ถึงสัปดาห์หลังปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุก คือเกษตรกร และฝ่ายรับ คือภาครัฐ หลังปีใหม่ 2561

ต้องมาลุ้นกันต่อว่าอะไรคืบอะไรไม่คืบ