ฝันของคนปลูกกาแฟขี้ชะมด

ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างจังหวัด และมีโอกาสพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ๆ

ผมรู้สึกว่าทำไมตอนที่เราอายุเท่าเขาจึงไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย

โดยเฉพาะช่วงเรียนมหา’ลัย

มัวแต่เรียนหนังสืออย่างจริงจังบ้าง ไม่จริงบ้าง

ทำกิจกรรมบ้าง

ดูหนัง ละคร ฟังเพลงไปเรื่อยเปื่อย เพราะสมัยผมมักจะมีเทศกาลหนังของประเทศต่างๆ มาฉายให้ดูฟรีอยู่บ่อยครั้ง ส่วนละคร พรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคนอยู่ในวงการละครเวทีอยู่แล้ว ก็เลยมีโอกาสติดสอยห้อยตามดูฟรีอยู่บ่อยๆ

ซึ่งเหมือนกับดนตรี คาราวาน, คีตาญชลี, คนด่านเกวียน ไปเล่นที่มหา’ลัยไหน ผมมักจะไปฟังฟรีบ่อยๆ เช่นกัน เพราะนักศึกษาที่ทำกิจกรรมของแต่ละมหา’ลัยมักคุ้นหน้าคุ้นตากัน

ถ้าจะเสียเงินจริงๆ คงเป็นหนังสือนั่นแหละที่ต้องซื้อเอง

แต่ก็ต้องแลกกับการอดมื้อกินมื้ออยู่บ้าง

ซึ่งผมก็ยอมทุกเดือน เพื่อจะได้อ่านวรรณกรรมชั้นดีจากต่างประเทศบ้าง ในประเทศบ้าง จนทำให้ผมคิดต่อมาในระยะหลังๆ ว่า…ไม่รู้นิสิต นักศึกษาสมัยนี้ เขาเป็นอย่างเราบ้างหรือไม่

อาจจะเป็นก็ได้

หรือไม่เป็นก็ได้

เพราะทุกอย่างอยู่ในสมาร์ทโฟนหมดแล้ว คงเหมือนกับที่ผมไปเจอน้องคนหนึ่งที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแถวกล้วยน้ำไท ที่ตอนหลังมาเปิดวิทยาเขตแถวรังสิต

เขาเรียนอยู่ปี 4

แต่เริ่มทำธุรกิจจริงๆ ตั้งแต่ตอนอยู่ ม.6 ตอนนั้นเป็นการลองผิดลองถูก จนเมื่อเขามาเรียนหนังสือที่เกี่ยวกับหลักสูตรการเป็นเจ้าของธุรกิจแต่เยาว์วัย ก็ทำให้มุมมองของเขาแจ่มชัดขึ้น

เพราะเขาต้องเสนอโครงการให้อาจารย์ทราบก่อน

ฟังแรกๆ ผมคิดว่าคงเป็นแค่โครงการเล็กๆ ขายเสื้อยืด ตุ๊กตา ขายของแฟชั่นออนไลน์ตามที่คนรุ่นใหม่ชอบทำ เพราะไม่ได้ใช้ทุนรอนมากมาย แต่พอคุยกับเขา จึงทราบความจริงว่า…โปรเจ็กต์ที่เสนออาจารย์คือการทำไร่กาแฟขี้ชะมด

บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่

โดยเขาแบ่งพื้นที่ออกเป็นเฟสๆ แต่ละเฟสถูกออกแบบแตกต่างออกไป พื้นที่ปลูกกาแฟคือพื้นที่ใหญ่ที่สุด ต่อจากนั้น เขาจะสร้างอาคารโอท็อป เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตผลอินทรีย์ในหมู่บ้านมาขาย โดยไม่คิดค่าเช่า

ส่วนที่เหลือบางส่วนจะทำสวนสัตว์

มีกิจกรรมขี่ม้า นั่งรถม้าให้เด็กๆ นั่งด้วย

พร้อมกันนั้น เขาจะปลูกดอกไม้นานาชนิดเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป มีลานกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญ เขามีความเชื่อมโยงกับบ้าน วัด โรงเรียน (บวร)

เพราะพื้นที่แถบนี้คือแหล่งอารยธรรมโบราณเก่าแก่ของชุมชนเผ่าไทโส้ ดังนั้น ประเพณีวัฒนธรรมเก่าๆ จึงถูกซ่อนตัวอยู่ โดยผ่านการแต่งกาย การร้องรำทำเพลง ภาษาพูด และการสืบสานพระศาสนา

โดยมีประชาชนในชุมชนทั้งหมดมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน เพราะต้องการพัฒนาหมู่บ้านของเขาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด

คงอยากรู้แล้วสิครับว่าผมกำลังพูดถึงที่ไหน?

หมู่บ้านโพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ครับ ที่นี่นอกจากจะเป็นที่ตั้งของ ไร่กาแฟขี้ชะมดบลูโกลด์ (Blue Gold) ที่มีชื่อเสียงของอำเภอ หากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดขึ้นจากความรักในการทำธุรกิจของ “เฟลม” เกียรติศักดิ์ คำวงษา ซึ่งกำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีนี้

เพราะเด็กๆ เขาเคยช่วยพ่อแม่ทำธุรกิจก่อสร้างมาก่อน

เขารู้ถึงความลำบาก และความยากจนดี โดยเฉพาะเมื่อพ่อเขาต้องจากไปตอนที่เฟลมอายุเพียง 10 กว่าขวบ กอปรกับแม่มีหนี้สินติดตัวจากการทำโครงการก่อสร้างกว่า 50 ล้านบาท

ตอนนั้นน้องสาวเขายังเล็กมาก

เขากับแม่จึงต้องช่วยกันปลดหนี้สินก้อนโตนี้ให้ได้ และที่สุด เขาใช้เวลาเพียง 3 ปีจึงชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ก่อนที่จะหันไปทดลองทำธุรกิจที่แตกต่าง

เฟลมเชื่อว่าการทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป และถ้าจะให้ดี ควรทำธุรกิจพรีเมียม

เขาเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต จนที่สุดจึงพบว่ากาแฟขี้ชะมดเป็นกาแฟแพงที่สุดในโลก นอกเหนือจากอินโดนีเซียและเวียดนามที่เป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว ประเทศไทยยังไม่มีใครทำจริงจัง

เฟลมจึงลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง พร้อมๆ กับทดลองปลูกกาแฟโรบัสต้า และเลี้ยงชะมดไปพร้อมๆ กันบนที่ดินของเพื่อนแม่ประมาณ 10 ไร่ใน จ.เลย

ปรากฏว่าเป็นไปตามสิ่งที่เขาคาดการณ์

ที่สุดเขาจึงเริ่มปลูกกาแฟขี้ชะมดอย่างจริงจังบนที่ดินของคุณตาที่โพนสวรรค์ เพราะที่นี่นอกจากจะมีชะมดซึ่งเป็นสัตว์พื้นบ้านอยู่แล้ว เขายังเลี้ยงระบบเปิด โดยปล่อยให้ชะมดอยู่กินกันอย่างธรรมชาติ

จนที่สุดผลผลิตใน 1 ปีที่เขาทำเริ่มออกดอกออกผล เพราะกาแฟขี้ชะมดขายได้กิโลกรัมละ 50,000-100,000 บาท เพียงแต่ตอนแรกที่ดินยังไม่มากเท่านี้ เขามาซื้อเพิ่มภายหลัง กระทั่งเป็น 400 ไร่ในปัจจุบัน

ตอนนี้เฟลมไม่เพียงเปิดร้านกาแฟภายในไร่ เขายังต่อยอดและสร้างแบรนด์บลูโกลด์ จนเริ่มเป็นที่รู้จักสำหรับคอกาแฟขี้ชะมดไปแล้ว

ทั้งยังมีร้านกาแฟขี้ชะมดบลูโกลด์ แถวซอยประดิษฐ์มนูธรรม 15 แขวงลาดพร้าว ในมหานครกรุงเทพฯ อีกด้วย

สำคัญไปกว่านั้น เขายังพัฒนากาแฟขี้ชะมดออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งในรูปแบบบรรจุซองในกล่องเล็กๆ, กล่องพรีเมียม พร้อมชุดชงกาแฟ, กาแฟขวดขี้ชะมด, สบู่ขี้ชะมด และอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา

ผมฟังเขาเล่า

เห็นในสิ่งที่เขาทำ

และความมุ่งมั่นที่สัมผัสได้ของเขา ผมก็รู้ในบัดนั้นว่าเด็กหนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดาเลย อายุเพียง 22 ปี แต่มีความกระหายในความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมาก

ผมเห็นแล้วก็ชื่นใจแทนแม่ของเขาที่เลี้ยงลูกมาดี

ทั้งยังชื่นใจแทนคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ และการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมา จนทำให้เด็กรุ่นใหม่กล้าที่จะนำองค์ความรู้ไปต่อยอดจนประสบความสำเร็จในธุรกิจ

นับถือจริงๆ

และทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ผมได้จากการเดินทางไปต่างจังหวัด และมีโอกาสพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจคนหนึ่ง

จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

สาโรจน์ มณีรัตน์

[email protected]

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2560