มจธ. สร้างโดรนพ่นยา ช่วย “ชาวสวนมะพร้าว”

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  แจ้งว่าทีมโคโคนัท การ์เดน แคร์ (COCONUT GARDEN CARE) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ประกอบด้วย นายกฤตธัช สารทรานนท์ นายวีระชาติ ค้ำคูณ นายวุฒิภัทร โชคอนันตทรัพย์ นายณัฐพงษ์ ฉางแก้ว และนายชินวัตร ชินนาพันธ์ โดยมี ดร.อรพดี จูฉิม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมของประเทศ โดยสร้างอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) หรือโดรน (Drone) ระบบอัตโนมัติพ่นยากำจัดศัตรูพืชให้กับสวนมะพร้าวที่ก้าวผ่านข้อจำกัดในเรื่องความสูง ป้องกันอุบัติเหตุ และการใช้งานไม่ยุ่งยาก ชิ้นส่วนทุกชิ้นสามารถหาซื้อได้ในประเทศ ทำให้การซ่อมบำรุงเป็นเรื่องง่าย ที่สำคัญคือราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับราคา UAV พ่นปุ๋ยทางการเกษตรในท้องตลาด

นายกฤตธัช สารทรานนท์ กล่าวถึงที่มาของแนวคิดดังกล่าวว่า เกิดจากความสนใจเข้าร่วมประกวดยูเอวี สตาร์ตอัพ 2017 จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ทำสวนมะพร้าวในประเทศไทยมีจำนวนมาก เพื่อการกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากต้นมะพร้าวมีขนาดสูง การสังเกตศัตรูพืชจากด้านล่างจึงทำได้ยาก โดยปกติเกษตรกรจะต้องจ้างคนปีนขึ้นไปพ่นยากำจัดศัตรูพืช หากเป็นสวนขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถทำได้ หรือหากใช้เครื่องแรงดันสูงพ่นยากำจัดศัตรูพืชขึ้นไป หรือวิธีการฉีดยากำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ลำต้นจะพบปัญหาค่าใช้จ่ายสูง ทีมจึงช่วยกันสร้างนวัตกรรมขึ้นมาแก้ปัญหา

นายณัฐพงษ์ ฉางแก้ว เล่าว่า เริ่มจากศึกษาข้อมูล วิธีการดูศัตรูพืช โดยใช้โดรนบินถ่ายภาพต้นมะพร้าวจากด้านบน แล้วนำภาพมาศึกษาร่วมกับเจ้าของสวนมะพร้าวว่าต้นใดมีศัตรูพืช จากนั้นใส่ข้อมูลลงโปรแกรม และสร้างให้มีการประมวลผล หากพบใบมะพร้าวที่มีสีเหลืองก็จะสามารถบอกได้ว่าตรงจุดนี้มีปัญหา และทำการพ่นยากำจัดศัตรูพืช

นายวีระชาติ ค้ำคูณ กล่าวว่า ระบบการทำงานของ UAV เกือบจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เพียงแค่ครั้งแรกต้องสร้างเส้นทางการบินให้กับ UAV ในการขึ้นบินครั้งแรก ด้วยแผนที่กูเกิลแมป UAV จะจดจำเส้นทางการบินจากตำแหน่งที่สร้างไว้ หลังจากนั้นผู้ใช้เพียงแค่เติมน้ำยากำจัดศัตรูพืช จากนั้นส่ง UAV ขึ้นบินและสำรวจสวนมะพร้าวด้วยระบบอัตโนมัติ เมื่อพบจุดที่มีต้นมะพร้าวมีลักษณะใบสีเหลือง เครื่องจะฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช ด้วยการประมวลที่เป็นระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบการทำงานและตำแหน่งของ UAV ได้จากคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ UAV ยังมีชุดคำสั่งป้องกันการตก หากจีพีเอส หรือเซ็นเซอร์ทำงานผิดปกติ มอเตอร์จะไม่ทำงาน และมีระบบควบคุมโดยการบังคับ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับตัว UAV ในขณะกำลังบินปฏิบัติหน้าที่

นายวุฒิภัทร โชคอนันตทรัพย์ กล่าวว่า ในส่วนของการออกแบบโครงสร้าง UAV ที่มี 4 ใบพัดแบบในท้องตลาด แต่เพิ่มขนาดของมอเตอร์ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น สามารถรับน้ำหนักได้เทียบเท่ากับ UAV ที่มี 6 – 8 ใบพัด สามารถบรรจุน้ำยากำจัดศัตรูพืชได้มากกว่า 10 ลิตร ทางทีมเลือกใช้วัสดุชิ้นส่วนที่หาซื้อได้ภายในประเทศมาประกอบทั้งหมด ส่งผลให้การหาซื้ออะไหล่ หรือการซ่อมบำรุงสะดวก

ดร.อรพดี จูฉิม กล่าวว่า นักศึกษาได้นำประสบการณ์จากในห้องเรียนและนอกห้องเรียน จากการที่เคยทำระบบอัตโนมัติ จึงได้นำข้อผิดพลาด ปัญหาที่เคยพบมาปรับปรุงแก้ไข นักศึกษากลุ่มนี้สร้างนวัตกรรมที่จะสามารถต่อยอดไปเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต และได้รับรางวัลรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรายการยูเอวี สตาร์ต อัพ 2017 จัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากเวทีดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017 นอกจากนี้นักศึกษายังได้ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนารูปแบบเชิงพาณิชย์ โดยวางแผนพัฒนา UAV รุ่นต่อไป เพิ่มศักยภาพในการทำงาน รองรับน้ำยากำจัดศัตรูพืชได้มากขึ้น และประยุกต์การทำงานให้เข้ากับการใช้งานทางการเกษตรในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2560