ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 13 ธันวาคม นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้ติดตามเฝ้าระวังการระบายน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ทั้ง 13 ทุ่ง โดยเริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีก 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใต้ จ.นครสวรรค์ลงมา
ปัจจุบันมีระบายน้ำออกจากทุ่งไปแล้วรวม 1,266 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คงเหลือปริมาณน้ำในทุ่งที่จะต้องระบายรวมกันออกอีกประมาณ 128 ล้าน ลบ.ม. โดยจะคงปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในแต่ละทุ่ง รวมกันประมาณ 346 ล้าน ลบ.ม. และใช้ระบบชลประทานในพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ
นางสุณี กล่าวว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ระบายน้ำ วันที่ 13 ธันวาคม 2560 พบว่าปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ตั้งแต่ช่วง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมา ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำลอยหัวขึ้นสู่ผิวน้ำ การแก้ไขปัญหาจะต้องเพิ่มการระบายน้ำเพื่อเจือจางน้ำเสีย
โดย สำนักงานชลประทานที่ 11 ได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเป็น 140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ ระบายจากเขื่อนพระรามหก 77.95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
“คพ. จึงขอแจ้งเตือนให้เตรียมรับสถานการณ์ โดยมีพื้นที่ที่อาจมีผลกระทบเพิ่ม ได้แก่พื้นที่ ปทุมธานีและ นนทบุรี และสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังให้ทำการคัดเลือกสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ออกจำหน่ายก่อน เฝ้าระวังสังเกตอาการของสัตว์น้ำ หากสัตว์น้ำลอยหัวเป็นเวลานานให้ใช้ปั๊มน้ำหรือปั๊มลมเติมออกซิเจนโดยด่วนและลดปริมาณการให้อาหาร หากมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากให้นำมาแปรรูปหรือกำจัดโดยการฝังกลบห้ามทิ้งลงในแหล่งน้ำ และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตลอดริมลำน้ำและคลองย่อยใกล้เคียงให้ลดการระบายน้ำทิ้งในห้วงเวลานี้ ” นางสุณี กล่าว