“หัวมัน” ราคาต่ำสุดรอบ 20 ปี ชาวไร่เดือด-กระทุ้งรัฐจ่ายไร่ละ 1,000 บาท

สถานการณ์ราคาหัวมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2558/2559 ช่วงโค้งสุดท้ายที่ลดลงเหลือ กก.ละ 1.20-1.30 บาท ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีนับจากปี 2539 ที่ราคาเคยอยู่ที่ กก.ละ 0.80 บาท ทำให้เกษตรกรขาดทุนอย่างน้อย กก.ละ 0.90 บาท ส่งผลให้ชาวไร่มันออกมาเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการดูแลอย่างเร่งด่วน

เดือดร้อนถึงคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ซึ่ง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก นางอภิรดี ตันตราภรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ดูแล รวมทั้ง “กรมการค้าภายใน” ต้องรีบชงมาตรการเสริม 2 มาตรการ คือ การพักชำระหนี้ให้เกษตรกร 2 ปี โดยรัฐบาลจ่ายชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้คิดเป็นวงเงิน 1,200 ล้านบาท และมาตรการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เกษตรกร 5 แสนราย รายละ 20,000 บาท ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 15 ตุลาคม 2559 เพื่อเสริม 4 มาตรการเดิม

14749448361474944885l

โซนนิ่งพื้นที่นาข้าวหนุนเกษตรกรปลูกมัน

พิจารณาโครงสร้างการผลิตมันสำปะหลังในแต่ละปีพบว่า ไทยมีผลผลิตมันสำปะหลัง 31-32 ล้านตัน “น้อยกว่า” ปริมาณความต้องการใช้ 40 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน 800,000-1,000,000 ตันต่อปีซึ่งไม่น่าเป็นเหตุผลที่ทำให้มันสำปะหลังราคาตก

แหล่งข่าวในวงการมันสำปะหลังตั้งข้อสังเกตว่า ราคามันสำปะหลังที่ลดลงอย่างผิดปกติมาจาก 2-3 สาเหตุ คือ 1) ผลพวงจากการใช้มาตรการโซนนิ่งสินค้าเกษตรกรเมื่อปี 2557 ที่ภาครัฐสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อยให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่่มาปลูกมันสำปะหลังแทน เพราะรายได้เฉลี่ยต่อไร่จากการปลูกมันสำปะหลัง 4,141 บาทสูงกว่าการปลูกข้าว 271 บาท

หากยังจำได้ นโยบายปรับพื้นที่ (โซนนิ่ง) ระบุว่า หากเปลี่ยนนาดอน 2 ล้านไร่มาปลูกมันฯ จะช่วยเกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 15 เท่า หรือราว 7,740 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากโซนนิ่งแล้วก็ไม่มีการติดตาม จนผลผลิตมันสำปะหลังจำนวนมากมาโผล่ในปีนี้

2) เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เกิดภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้การปลูกมันปีการผลิต 2558/2559 ต้องเลื่อนออกไปจากปกติ ชาวไร่จะขุดหมดไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นขุดช้าจนถึงเดือนกันยายน ผลผลิตปี 2558/2559 ก็ยังไม่หมด ขณะที่ผลผลิตมันปี 2559/2560 ก็กำลังจะตามออกมาในเดือนตุลาคมนี้

ชาวไร่มันเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด

นอกจากนี้ ยังเจอแจ็กพอตซ้ำเนื่องจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ต้องเร่งขุดเพื่อหนีฝนอีก ส่งผลให้คุณภาพเปอร์เซ็นต์แป้งลดลงจากเกณฑ์ 25% เหลือ 21-22% ทำให้ราคาร่วงลงอีก

3) กลไกตลาดผิดปกติกล่าวคือ เกษตรกรจะต้องขายมันให้ลานมันและโรงแป้ง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น และแป้งมันสำหรับส่งออก แต่ช่วงนี้ “ผู้ซื้อ” น้อยราย เพราะเมื่อฝนตกหนักลานมันไม่สามารถตากมันได้ ต้องหยุดซื้อ เกษตรกรหมดทางเลือกจึงต้องขนหัวมันไปขายให้กับโรงแป้ง ซึ่งเปิดทำการเพียง 50% หรือประมาณ 45 โรงจากทั่วประเทศ ผลต่อเนื่องตามมา คือ

“โรงแป้ง” แบกสต๊อกมากจนรับไม่ไหว จึงต้องไปเร่งส่งออกให้เร็วที่สุด นำมาสู่ปัญหาการตัดราคากันเอง ทำให้ราคาส่งออกเอฟโอบีแป้งมันลดลงจากตันละ 335-350 เหลือตันละ 290 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นเดียวกัน และคิดทอนกลับเป็นราคาแป้งจะเหลือ กก.ละ 9 บาท จากเคยขายได้ 12-13 บาท ทำให้ราคาหัวมันเหลือเพียง กก.ละ 1.40 บาท ปรากฏการณ์นี้เริ่มจากกลุ่มโรงแป้งในพื้นที่ที่ยังมีผลผลิตปี 2558/2559 ค้างอยู่ เช่น จ.กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เลย อุดรธานี และขอนแก่น และลามไปยังโรงแป้งในพื้นที่อื่นต้องลดราคาลงตามซ้ำร้ายตลาดส่งออกหลักอย่างจีนซึ่งมีสัดส่วนกว่า 90% มีนโยบาย “ลด” การนำเข้ามันเส้นจากไทย หันไปใช้สต๊อกข้าวโพดที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเกษตรกรแทน โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จีนจะระบายสต๊อกข้าวโพด 50 ล้านตันจากทั้งหมด 250 ล้านตัน

4 สมาคมมันเสียงแตก

เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้ “สมาคมโรงแป้งมันสำปะหลังไทย” ถูกผลักเป็นจำเลยกดราคามัน และไม่สามารถเข้าร่วมกับ 3 สมาคมมันสำปะหลัง ซึ่งนำโดยนางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย นายนิยม จุฬาเสรีกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และ นายสมบูรณ์ วัฒนวาณิชย์กุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำอย่างเร่งด่วนได้

สาระสำคัญของแถลงการณ์นั้นเสนอให้รัฐออกมาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 3 แสนครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท เป็นวงเงิน 8,600 ล้านบาท ให้เกษตรกรมีเงินใช้จ่ายเพื่อจะได้ชะลอการขุดมันออกไป 50-60 วัน ด้วยหวังว่าจะดึงจังหวะรอให้หมดฝน แล้ว “ลานมัน” กลับมาช่วยซื้อและช่วยให้ผลผลิตหัวมันมีคุณภาพมากขึ้น พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสนอให้กำหนดโควตาและให้ผู้นำเข้ามานำเข้ามาเพื่อส่งออก ซึ่งจะช่วยลดซัพพลายส่วนเกินได้

นายธีระชาติ เสยกระโทก ผู้ประสานงานสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในพื้นที่เกษตรกรไม่สามารถชุนนุมประท้วงได้เหมือนในอดีต กลไกการแก้ไขปัญหาจึงมีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการลานมันช่วยเข้ารับซื้อหัวมัน (เปอร์เซ็นต์แป้ง 25%) จากเกษตรกรในราคา กก.ละ 2.10 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแป้งในพื้นที่ยืนยันว่า ไม่สามารถรับซื้อในราคาดังกล่าวได้ เพราะขณะนี้การส่งออกแป้งประสบปัญหาด้านราคา อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังปีนี้ยัง เหลืออยู่ 10% เท่านั้น หากกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการชัดเจนน่าจะช่วยยกระดับราคาขึ้นได้

ขยายตลาด-ดูแลโซนนิ่ง

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาเชิงรุก “นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะภาคเอกชนออกไปเจรจาเพื่อขยายตลาดส่งออก 3 แห่ง คือ อินเดีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ช่วง 26-30 กันยายนนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการขยายตลาดส่งออกใหม่ ลดการพึ่งพาการส่งออกตลาดจีนได้ในอนาคต ขณะเดียวกันได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จ.สระแก้ว เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการลักลอบนำเข้ามันเส้น

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังกังวลว่าปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากใช้มาตรการโซนนิ่งภาคการเกษตรจะยังมีต่อเนื่องจนถึงปีการผลิต 2559/60 ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกลไกการติดตามข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต